นิ้วงามตามตำรา

Sharing /แชร์

อวัยวะส่วนสำคัญของไก่ชนอีกอย่างหนึ่ง ที่ในตำราโบราณได้ว่าไว้นั่นคือส่วนที่เรียกว่า “นิ้ว ไก่” ว่ากันว่านิ้วของไก่ตัวใดที่ถูกต้องตามตำรานั้น ย่อมจะแสดงให้เห็นถึงคุณลักษณะของไก่ที่มีความเก่งฉกาจเหนือไก่ธรรมดาโดยทั่วไป โดยตำราโบราณได้กล่าวถึงรายละเอียดของนิ้วไก่ที่ดีดังต่อไปนี้
สุดยอดของไก่ตามตำราที่ว่าไว้ก็คือ ลักษณะ “ก้อย 5 หน้า 21″หรือ “ก้อย 5 หน้า 16 ซึ่งมีอยู่ 2 ลักษณะด้วยกัน โดยตามตำราถือว่าเป็นสูตรของนิ้วไก่ที่ดี และทั้งสองลักษณะดังกล่าวจะมีคุณสมบัติแตกต่างกันออกไป

ลักษณะที่ 1 “ก้อย 5 หน้า 21”

คำว่าก้อยนั้นหมายถึงนิ้วก้อยหลังของไก่ ส่วนคำว่าหน้าก็มีความหมายถึงนิ้วกลางของไก่นั่นเอง สำหรับตัวเลขที่กำกับอยู่นั้น หมายถึงจำนวนของเกล็ดที่มีอยู่บนนิ้วซึ่งจะนับตั้งแต่ปลายเล็บไปถึงโคนนิ้ว ดังนั้นคำว่า “ก้อย 5 หน้า 21” จึงหมายถึงเกล็ดบนนิ้วของไก่ ซึ่งก้อยหลังควรจะมี 5 เกล็ดและนิ้วกลางควรจะมี 21 เกล็ดนั้นเอง
ลักษณะดังกล่าวจะเห็นได้ว่า
เมื่อยามที่ไก่ยืนอยู่เฉยๆ จะมองเห็นเป็นมุมซึ่งเป็นจุดตัดแบ่งแยกระหว่างเกล็ดของนิ้วกับเกล็ดของแข้งพอดี ไก่ตัวใดที่มีนิ้วตรงตามตำรา คือก้อย 5 หน้า 21 ก็ถือได้ว่าเป็นไก่ที่มีนิ้วเป็น “นิ้วขุนนาง” เป็นไก่ที่มีความสามารถในการตีสูง คือตีไก่เจ็บ ตีไก่กลัว และหนีเอาง่ายๆ ถึงแม้ว่าจะโดนเจ็บไม่เท่าไหร่ก็ตาม เรียกว่าตีไก่กลัวง่ายนั้นเอง ไก่ประเภทนี้ ส่วนใหญ่มักจะใช้นิ้วที่ยาวเรียวเป็นอาวุธในการโจมตีคู่ต่อสู้มากกว่าจะใช้เดือย
ลักษณะที่ 2 “ก้อย 5 หน้า 16”

ลักษณะโดยรวมคล้ายคลึงกับไก่นิ้ว “ก้อย 5 หน้า 21” จะต่างกันเพียงจำนวนตัวเลขของเกล็ดนิ้วกลางที่จะมีอยู่เพียง 16 เกล็ด ไก่ประเภทนี้ตามตำรากล่าวเอาไว้ว่าจะเป็นไก่ที่มีฝีตีนจัดจ้านมาก มีความว่องไวสูง มีความหนักหน่วงทุกท่วงทำนองการตี หากตีคู่ต่อสู้ในแต่ละทีมักจะเกิดอาการหักง่ายๆเหมือนกัน
ไก่ที่มีนิ้วประเภทนี้
แม้จะตีคู่ต่อสู้หักไม่กลัวจนหนีไปเหมือนกับไก่ที่มีเกล็ดนิ้วหน้า 21 เกล็ดก็ตาม แต่ก็สามารถที่จะทำให้คู่ต่อสู้หักจนตายได้ง่ายเหมือนกัน เช่นเดียวกับคำที่เรียกว่า “มะขามข้อเดียว” ซึ่งมีพละกำลังเหนือปกติธรรมดานั้นเอง
สำหรับก้อยหลังที่มี 5 เกล็ดนี้
ตามตำราได้กล่าวไว้เช่นกันว่า ไก่ที่มีเกล็ดนิ้วก้อยหลัง 5 เกล็ด หมายถึงจะเป็นไก่ที่มี เพลงตีที่เจ็บปวดและสามารถทำให้คู่ต่อสู้หักได้
ไก่นิ้วงามตามตำรา
จึงหมายถึงไก่ที่มีเกล็ดตรงตามตำราดังกล่าว โดยทั้งก้อยหลังและนิ้วกลางหน้า ควรจะต้องมีครบทั้งหน้าและหลัง ไม่ใช่มีแต่เพียงก้อยหลังอย่างเดียว หรือนิ้วก้อยหน้าเพียงอย่างเดียว จึงจะเรียกได้ว่าเป็นไก่นิ้วงามตามตำราจริงๆ
การนับเกล็ดอย่างถูกวิธีนั้น
กระทำได้โดยก่อนนับให้จับไก่ขึ้นแล้วดูที่โคนนิ้ว จับไก่ให้ยืนอยู่เฉยๆ แล้วเริ่มนับตั้งแต่เกล็ดที่อยู่ตรงมุมพับของนิ้วพอดีเป็นเกล็ดแรก หากมีการทับกันระหว่างเกล็ดหน้าแข้งกับเกล็ดนิ้ว จะต้องดูให้ดี ต้องแยกให้ชัดเจนว่าเกล็ดที่ถูกทับนั้นเป็นเกล็ดของนิ้วหรือเกล็ดของแข้งกันแน่
วิธีสังเกตง่ายๆก็คือ
ให้แหวกดู ถ้าเกล็ดหงายขึ้นก็ถือว่าเป็นเกล็ดของนิ้ว หากเกล็ดตะแคงข้างก็ให้สรุปไปเลยว่าเป็นเกล็ดของแข้ง ให้เริ่มนับมาจนถึงปลายนิ้ว ว่ามีกี่เกล็ด หากถูกต้องตามตำราก็ถือว่าเป็นไก่ที่มีนิ้วงามถูกต้องตามตำราโบราณ
โดยทั่วไปแล้ว ไก่ที่มีเกล็ดนิ้วงามตามตำรา จะมีอยู่ไม่มากมายนัก จัดได้ว่าหายากพอสมควร ซึ่งโดยปกติทั่วไปแล้ว ก้อยหลังของไก่ส่วนใหญ่จะมีอยู่ 6 เกล็ดและนิ้วกลางจะมีอยู่ 19-20 เกล็ดเท่านั้น

Sharing /แชร์