เลี้ยงอย่างไรให้ได้ผล

Sharing /แชร์

การเลี้ยงไก่ให้ได้ผลดี
          ในการเลี้ยงไก่พื้นเมืองที่จะให้ได้ผลผลิตดีนั้น มีสิ่งที่จะต้องคำนึงถึง ดังนี้
          
* พันธุ์ดี * อาหารดี *โรงเรือนดี * การจัดการ (การเลี้ยงดู) ดี * การควบคุมป้องกันโรคดี
          1. โรงเรือนหรือเล้าไก่ ต้องมีโรงเรือนหรือเล้าให้ไก่นอน มีหลังคากันแดดกันฝนได้ ไม่ควรเลี้ยงไก่ไว้ใต้ถุนบ้าน เพราะนอกจากจะไม่ถูกสุขลักษณะแล้ว คนบนเรือนจะถูกไรไก่รบกวนอีกด้วย เกษตรกรสามารถทำเล้าไก่แบบง่ายๆ ได้เอง โดยใช้วัสดุที่หาได้ง่ายในท้องถิ่น เช่น ไม้ไผ่ แฝก จาก ฯลฯ สถานที่ตั้งของเล้าไก่ ควรให้ห่างจากตัวบ้านพอสมควร และอยู่ในที่ดอนไม่ชื้นแฉะ ไม่ควรอยู่ใกล้ต้นไม้ เพราะไก่ชอบนอนบนต้นไม้จะไม่เข้าไปนอนในเล้า พื้นเล้าอาจจะปูด้วยแกลบหรือขี้เลื่อยหรือฟางแห้งหนาอย่างน้อย 4 ซ.ม. และต้องเปลี่ยนวัสดุรองพื้นทุก ๆ 3 เดือนให้หนาเท่าเดิมอยู่เสมอ
          เล้ากว้าง 3 เมตร ยาว 4 เมตร สูง 2 เมตร เลี้ยงไก่ขนาดใหญ่ได้ ประมาณ 30-40 ตัว
          เล้ากว้าง 1 เมตร ยาว 2 เมตร สูง 1 เมตร เลี้ยงไก่ขนาดใหญ่ได้ประมาณ 6-8 ตัว

          ควรมีกรงไก่ขนาดเล็กอีก 2 กรง คือ
          กรงหรือสุ่มสำหรับเลี้ยงแม่ไก่กับลูกอ่อน 1 กรง
          กรงหรือสุ่ม สำหรับเลี้ยงไก่เล็ก 1 กรง
          โรงเรือน อีกหนึ่งปัจจัยสำคัญในการเลี้ยงไก่ชน
          โรงเรือนซึ่งเปรียบเสมือนบ้านของไก่ชนนั้นนับว่ามีความสำคัญไม่น้อยไปกว่าปัจจัยอีกหลายๆประการในการเลี้ยงไก่ชน จึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องจัดสร้าง และกำหนดพื้นที่ ตลอดจนทิศทางให้เหมาะสมต่อการอยู่อาศัยของไก่ในหลายระดับอายุ ตั้งแต่เป็นลูกเจี๊ยบจนถึงไก่แก่ สถานที่ ที่จะสร้างโรงเรือนให้ไก่ได้อยู่อาศัย หลบแดด หลบฝน พักผ่อนนอนหลับ หรือแม้แต่ใช้เป็นสถานที่ทำรัง วางไข่ จะต้องเลือกทำเลสถานที่ตั้ง ตลอดจนการสร้าง ให้เหมาะสม ถูกต้องตามหลักสุขลักษณะ เพื่อสุขภาพร่างกายรวมถึงสุขภาพจิตใจของไก่ ซึ่งจะส่งผลต่อการเจริญเติบโต และสามารถป้องกันในเรื่องโรคภัยไข้เจ็บต่างๆ ที่อาจจะเกิดขึ้นกับไก่ได้
          ในการเลือกสรรหาทำเลที่ตั้งที่เหมาะสมในการสร้างโรงเรือนนั้น    ต้องมีองค์ประกอบอยู่หลายอย่าง เช่น ต้องคำนึงถึงทิศทางลม เพื่อให้ระบบทางเดินหรือการถ่ายเท อากาศเป็นไปอย่างปลอดโปร่งไม่อับชื้น ซึ่งหากระบบการถ่ายเทไม่ดีเท่าที่ควร จะทำให้ไก่ที่เลี้ยงไว้ เกิดการติดเชื้อกันอย่างง่ายดาย โดยเฉพาะในลูกไก่วัยแรกเกิดจนถึง 3 เดือน จะต้องอยู่ในสถานที่ซึ่งอากาศถ่ายเทได้ดี ขณะเดียวกันก็ไม่ควรให้โดนลมมากเกินไปในเวลากลางคืน เพราะลูกไก่ยังต้องการความอบอุ่นสูงอยู่ ทางที่ดีควรจะ แยกโรงเรือนระหว่างลูกไก่กับไก่โตเต็มที่
          ทิศทางลมในช่วงฤดูร้อน      ลมจะพัดทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ไปทิศตะวันออกเฉียงเหนือ ส่วนฤดูหนาวจะพัดย้อนจากทิศตะวันออกเฉียงเหนือไปยังทิศตะวันตกเฉียงใต้ ดังนั้น โรงเรือนที่ดีควรจะเปิดให้โปร่งทางทิศใต้ และปิดทึบพอประมาณด้านทิศเหนือ เพื่อกระแสลมจะได้พัดผ่านได้ดีในฤดูร้อน และไม่ได้รับลมหนาวมากจนเกินไปใน ช่วงหน้าหนาวและฤดูฝน
          สำหรับพื้นโรงเรือน    นั้นจำเป็นต้องให้ได้รับแสงแดดบ้างไม่ต่ำกว่า 70 % เพื่อให้แสงแดดที่สอดส่องเข้ามาช่วยในการฆ่าเชื้อโรค ไม่เกิดการอับชื้นหรือหมักหมม ซึ่งจะ ช่วยป้องกันโรคระบาดได้ระดับหนึ่ง ตลอดจนช่วยให้กลิ่นเหม็นอันเกิดจากขี้ไก่บรรเทาเบาบางลงด้วย
          โรงเรือนที่ดีนั้น    ไม่ควรอยู่ใกล้กับที่ชื้นแฉะ หรือน้ำที่เหน่าเสีย เพราะจะเป็นแหล่งแพร่เชื้อโรค โดยเฉพาะเมื่อไก่จิกกินอาหารหรือน้ำเหน่าเสียนั้นเข้าไปและไม่ควรปลูก โรงเรือนใกล้ต้นไม้สูงเพราะอาจทำให้ไก่ไม่อยากเข้ารัง แต่จะพากันขึ้นไปนอนบนต้นไม้แทน
          เมื่อเลือกทำเลที่ตั้งได้เหมาะสมแล้ว        โรงเรือนที่ดีควรจัดแยกระหว่างที่นอนประจำ และรังฟักไข่ วัสดุในการสร้างหลังคา ควรเป็นวัสดุที่ไม่เก็บความร้อนจนเกินไป เช่น จาก แฝก หรือกระเบื้อง ไม่ควรใช้สังกะสี ฝาโรงเรือนอาจจะใช้จากหรือไม้ระแนงก็ได้ ควรกั้นตาข่ายกันยุงหรือมุ้งลวด คอนของไก่ ซึ่งมีอยู่ 2 แบบ คือแบบกลมและ แบบแบน แบบกลมนั้นเมื่อไก่นอนนานๆจะทำให้โครงกระดูกหน้าอกคดได้ ส่วนอย่างแบนก็จะทำให้ไก่ปวดหน้าอกได้เช่นกัน ดังนั้น จึงควรใช้วัสดุที่มีความนิ่ม เช่น ผ้า พรม หรือฟองน้ำมาพันห่อหุ้มไว้ แต่ต้องทำช่องระบาย เพื่อให้มูลหรือขี้ไก่ตกลงมาข้างล่างได้ และควรจะสูงจากพื้นไม่ต่ำกว่า 2 เมตร เพื่อป้องกันสัตว์ หรือ แมลงที่อยู่ตามพื้นดินกัดต่อย
          การสร้างและกำหนดพื้นที่ทิศทางให้ถูกต้องในการสร้างโรงเรือน   เป็นปัจจัยสำคัญที่ไม่ควรมองข้าม ก็เพื่อให้ไก่ชนได้เติบโตขึ้นมาอย่างมีคุณภาพ เพราะหากการกินอยู่ หลับนอนดี การเจริญวัยก็จะเป็นไปได้อย่างสมบูรณ์
          2.รางน้ำ ต้องมีรางน้ำสำหรับน้ำสะอาดให้ไก่กิน อาจใช้รางไม้ไผ่ผ่าครึ่งก็ได้
          3.รางอาหาร ควรมีรางสำหรับให้อาหารไก่ เพราะการให้ไก่จิกกินอาหารบนพื้นดินทำให้ไก่เป็นโรคพยาธิได้ง่าย
          ขนาดราง :
          ไก่ใหญ่ 10 ตัว ใช้รางยาว 1 เมตร
          ไก่รุ่น 10 ตัว ใช้รางยาว 50 เซนติเมตร
          ไก่เล็ก 10 ตัว ใช้รางยาว 20 เซนติเมตร
          4.รางใส่กรวดและเปลือกหอยป่นผสมเกลือป่น ไก่ทุกขนาดต้องกินกรวดและเปลือกหอยเพื่อนำไปสร้างกระดูกและเปลือกไข่ กรวดและเปลือกหอยต้องตั้งทิ้งไว้ให้กินตลอดเวลา           5. รังไข่ ปกติแม่ไก่พื้นเมืองจะไข่ในรังไข่เมื่อไข่ได้ 10-12 ฟองจึงจะเริ่มฟักต้องมีจำนวนรังไข่เท่ากับจำนวนแม่ไก่ที่ไข่เพื่อไม่ให้ไก่แย่งกัน ขนาดรังไข่กว้างและยาว 1 ฟุต สูง 8 นิ้วฟุต หรือใช้เข่งก็ได้รองด้วยหญ้าหรือฟางแห้งให้ถึงครึ่งควรตั้งรังไข่ให้อยู่ในที่มิดชิด ไม่ร้อนเกินไป ฝนสาดไม่ถึง แต่แม่ไก่เดินเข้าออกสะดวก
          6. ม่านกันฝน ด้านที่ฝนสาดหรือแดดส่องมาก ๆ ควรมีม่านผ้าใบ กระสอบ หรือเสื่อเก่าๆ ห้อยทิ้งไว้โดยเฉพาะมุมที่วางรังไข่
          7. คอนนอน สำหรับให้ไก่นอน ควรจะพาดไว้มุมใดมุมหนึ่งของเล้า คอนนอนควรเป็นไม้กลมดีกว่าไม้เลี่ยมซึ่งไก่จะจับคอนนอนได้ดี และเป็นการป้องกันไม่ให้เกิดบาดแผลที่หน้าอกไก่อีกด้วย

Sharing /แชร์