การปฏิบัติต่อขณะแม่ไก่ฟัก

Sharing /แชร์

การปฏิบัติดูแลแม่ไก่ระหว่างฟักไข่
 แม่ไก่ที่อยู่ในระหว่างการฟักไข่จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องดูแลเป็นอย่างดี แม่ไก่บางตัวตั้งใจฟักไข่ไม่ค่อยลงมาหาอาหารกินทำให้ร่างกายซูบผอม จะต้องวางอาหารและน้ำเอาไว้ใกล้ๆกับรังฟัก ควรดูแลไข่และลูกไก่ให้ใกล้ชิดอีกด้วย ควรปฏิบัติดังนี้
1. ขณะที่แม่ไก่กำลังไข่ ไม่ควรที่จะให้วัคซีนหรือยาใดๆทั้งสิ้น ถ้าจะให้ควรให้ก่อนแม่ไก่จะไข่ ถ้าให้ในระหว่างแม่ไก่กำลังไข่ อาจจะทำให้หยุดไข่ได้
2. ถ้าแม่ไก่ออกไข่มากจนเกินไป ควรแบ่งไข่ออกไปกินบ้าง ถ้ามากเกินไปอัตราการฟักออกเป็นตัวจะน้อยมากแม่ไก่หนึ่งตัวควรฟักไข่ไม่เกิน 12 ฟอง
3. ควรจะต้องมั่นส่องไข่ เพื่อให้แม่ไก่ฟักเฉพาะไข่ที่มีเชื้อ ถ้าไม่มีเชื้อก็คัดออกมา ถ้าให้ฟักไปไข่ก็เสียเปล่าๆ
4. เมื่อฟักออกเป็นตัวแล้วควรแยกลูกไก่ไปเลี้ยงในคอกอนุบาล ปล่อยให้แม่ไก่ได้ฟื้นตัวเร็วๆ จะได้ไข่ใหม่เร็วๆเพราะแม่ไก่ไม่ต้องคอยเลี้ยงดูลูกเล็กๆ ร่างกายไม่โทรมได้พักฟื้นเต็มที่ ร่างกายแข็งแรงทำให้สามารถผสมพันธุ์และไข่ได้เร็ว
5. ระยะกกลูกไก่ควรใช้หัวอาหารอาหารสำเร็จรูปแล้วค่อยๆเติมอาหารธรรมชาติเพิ่มขึ้นเรื่อยๆจนถึงสัปดาห์ที่3 จึงปล่อยไก่ลงเลี้ยงแบบพื้นบ้านได้
6. ระยะกกลูกไก่ 3 สัปดาห์ ให้ผู้เลี้ยงทำวัคซีนได้ ถึง 4 ครั้ง
7. ลูกไก่ระยะกก ควรดุแลให้ความอบอุ่น เช่น น้ำ อาหาร อย่าให้ขาด ควรดูแลและเติมตลอดเวลา
8. รังไข่ควรมีจำนวนพอกับแม่ไก่ถ้าน้อยเกินไปจะเกิดปัญหาแม่ไก่แย่งรังไข่กันแม่ไก่ 5 ตัวควรมีรังไข่ 5 รังม่ควรมากกว่านี้ แม่ไก่บางตัวอาจไข่ทีเดียวสองรัง
9. คอกไก่ ควรทำความสะอาดเสมอ ควรพ่นยากำจัดไรที่พื้นคอกเดือนละครั้ง เพื่อไม่ให้ไรรบกวนไก่ที่อยู่ในคอก นอกจากจะรำคาญแล้วยังทำให้ไก่เจ็บป่วยได้ง่าย
10. แม่ไก่ที่ไข่และฟักเกิน 4 รุ่น ควรคัดออก ใช้แม่ไก่ใหม่แทน ที่คัดออกเพราะแม่ไก่แก่เกินไป ผลผลิตที่ได้ไม่เท่าแม่ไก่รุ่นใหม่ๆ

การเลี้ยงลูกไก่อ่อน
          เมื่อลูกไก่ออกจากไข่สามารถเดินได้แล้ว ลูกไก่อยู่ในช่วงอายุ 1-7 วัน ช่วงนี้ลูกไก่ยังอ่อนแอ และเป็นช่วงที่อันตรายมาก ไม่ควรให้แม่ไก่นำลูกออกมา เดินคุ้ยเขี่ยอาหาร ต้องกักขังแม่ไก่เอาไว้ แยกลูกไก่เอาไว้ในคอกอนุบาล ลูกไก่ที่แยกออกมานี้ต้องเลี้ยงและเอาใจใส่เป็นพิเศษให้ความอบอุ่นแก่ลูกไก่ ด้วยการกก ทำได้หลายวิธี วิธีง่ายๆคือ นำสุ่มมาครอบลูกไก่เอาไว้ เอาผ้าคุลมบนสุ่มและรอบๆสุ่มเอาไว้ กลางคืนจุดตะเกียงน้ำมันก๊าดวางไว้ใกล้ๆ หรือจะใช้หลอดไฟขนาด 60-100 แรงเทียน ห้อยเอาไว้เหนือสุ่ม หรือใช้โคมไฟอ่านหนังสือตั้งไว้ข้างนอก เปิดไฟส่องไปในสุ่มไก่ให้ถูกตัวลูกไก่ อุณหภูมิเป็นสิ่งที่สำคัญมาก ถ้าอุณหภูมิปกติ พอเหมาะ ลูกไก่จะกระจายวิ่งเล่น กินน้ำกินอาหาร ภายในสุ่มต้องปูพื้นด้วยแกลบ ขี้เลื่อย ฟางสับ ปูให้หนาประมาณ 5 เซนติเมตร เกลี่ยเรียบให้ทั่ว รางน้ำและอาหารต้องจัดเอาไว้เพื่อให้ลูกไก่หัดกิน ลูกไก่บางตัวกินน้ำไม่เป็น ควรจับปากลูกไก่จุ่ม ลงในน้ำ รางอาหาร ใส่รำละเอียด ควรใช้ถาดตื้นๆ กว้างๆ ให้อาหารทีละน้อยๆก่อน เพื่อให้ลูกไก่หัดจิกกิน ควรระวังอย่าให้ลมโกรกลูกไก่ ในกรณีที่เลี้ยงไก่เอาไว้ไม่กี่แม่อาจให้แม่ไก่กกลูกเองก็ได้ เมื่อลูกไก่ออกจากไข่หมดแล้ว ให้ย้ายทั้งแม่และลูกไก่ลงมาขังรวมกันในสุ่ม ครอบเอาไว้ทั้ง แม่และลูกประมาณ 5-10 วัน เพื่อให้ลูกไก่แข็งแรงดี ช่วงนี้ควรให้อาหาร เช่น รำ ปลายข้าว น้ำสะอาด ตั้งไว้ในสุ่มตลอดเวลา เมื่อได้ประมาณ 2 อาทิตย์ ให้ปล่อยแม่ไก่พาลูกไปหาอาหารกินตามธรรมชาติ อย่าปล่อยไก่ออกไปในตอนเช้านัก นอกจากจะเกิดอันตรายแล้วยังทำให้ลูกไก่เป็นหวัด ไม่สบาย ต้องรอให้น้ำค้างแห้งเสียก่อนค่อยปล่อยออกไป นั่นหมายความว่าแดดออกแล้วนั่นเองแสงแดดอุ่นๆทำให้ลูกไก่รู้สึกสบายตัวมาก ควรปล่อยแม่และลูกไก่ไปในที่ลานกว้างๆกลางแจ้งมีแสงแดดส่องทั่วถึง ถ้าเป็นลานหญ้าได้ยิ่งดี เพราะลูกไก่จะได้วิ่งไล่จับแมลง เป็นการหัดหาอาหาร กินเองตามธรรมชาติและออกกำลังกายไปในตัวด้วย
การให้อาหารอีกวิธีหนึ่งก็คือ หาปลวกมากกะเทาะให้ลูกไก่กิน จะทำให้ลูกไก่โตเร็วมาก เพราะปลวกมีโปรตีนสูง กินง่ายลูกไก่จะชอบมาก กลางคืนควรให้ลูกไก่นอนตามความชอบ แต่ต้องนอนตามคอนเตี้ยๆ อย่าให้นอนที่ลานเด็ดขาดจะทำให้เสียสุขภาพ ถ้าเป็นไปได้กลางคืนควรเอาใส่สุ่ม เพื่อป้องกันอันตรายจากสัตว์ต่างๆ อาจจะหาไม้มาเสียบตามช่องสุ่มเพื่อเป็นคอนให้ไก่เกาะนอนในเวลากลางคืน

การให้อาหารลูกไก่
การให้อาหารลูกไก่สำคัญมาก เพราะลูกไก่ต่างอายุกัน ย่อมมีความต้องการอาหารที่แตกต่างกัน วิธีให้อาหาร คือ
1. ลูกไก่อายุ 1 วัน เมื่อเอาลงมาจากรังไข่ ยังไม่ต้องให้อาหาร เพราะลูกไก่มีอาหารสำรองอยู่ในกระเพาะแล้ว ควรให้กินแต่น้ำสะอาด กวาดทราย เม็ดเล็กๆ ตั้งไว้เพื่อให้ลูกไก่หัดจิกกิน
2. ลูกไก่อายุ 2-7 วันควรให้กินปลายข้าวผสมกับหัวอาหาร ให้ทั้งเช้าและเย็น แต่ควรให้กินครั้งละน้อยๆเท่าที่ลูกไก่กินหมดภายใน 3-5นาทีเท่านั้น ตั้งน้ำสะอาจ กวาดทรายเล็กๆ ตั้งไว้ให้กินตลอดเวลา
3. ลูกไก่อายุ 2 อาทิตย์ ช่วงนี้ลูกไก่สามารถหาอาหารอย่างอื่นกินได้บ้างแล้ว แต่ก็ควรให้ปลายข้าวผสมหัวอาหาร อาหารหยาบ เช่น รำละเอียดผสมกับปลายข้าว กากถั่ว ข้าวโพดบด ปลาป่น กระดูกป่น เปลือกหอยป่น โดยผสมตามสูตรดังนี้ กระดูกป่น 0.1 กิโลกรัม เปลือกหอยป่น 0.2 กิโลกรัม อาจผสมเกลือแกงลงไปประมาณ 1 ช้อนชา ผสม พรีมิกซ์ไวตามินลงไปด้วยสักเล็กน้อย ควรหาเศษผัก หรือหญ้าสดมาหั่นเป็นชิ้นเล็กๆ โปรยให้ไก่กินวันละ 1-2 ครั้ง ที่สำคัญมากที่สุดก็คือน้ำสะอาดต้องมีตลอดเวลา คอยมั่นทำความ สะอาดบริเวณที่นอนของลูกไก่ อย่าให้สกปรก หมักหมม ควรให้ลูกไก่ถูกแสงแดดบ้างทั้งเช้าและเย็น
4. ลูกไก่อายุย่างเข้า 3-6 อาทิตย์ ลูกไก่ที่อยู่ในระยะนี้ขนจะขึ้นสมบูรณ์แล้ว และที่สำคัญจะเริ่มมีการจิกกัน อาหารผักสดยังคงให้เหมือนเดิม อาจจะเพิ่มกวาด ทรายให้กินเป็นอาทิตย์ละ 2 ครั้ง
5. ลูกไก่อายุ 7-8 สัปดาห์ ไก่ในช่วงเวลานี้จะเจริญเติบโตมากขึ้นกว่าเดิม ควรแยกตัวผู้ และ ตัวเมียออกจากกัน ถ้าต้องการจะนำตัวผู้ไปตอน ก็ควรทำเสียตอนนี้เลย ควรให้วัคซีน นิวคาสเซิลครั้งที่ 2 โดยการฉีด การเลี้ยงดูควรให้อาหารและน้ำอย่างเพียงพอ คอยทำความสะอาดกรง หรือโรงเรือนอยู่เสมอ ไม่เช่นนั้นไก่จะไม่สบายตัว
6. ไก่อายุ 30-70 วัน ระยะนี้การให้อาหารง่ายมาก ควรให้กินอาหารข้าวกล้อง ข้าวเปลือกได้แล้ว วันต่อไปให้กินเฉพาะข้าวเปลือกอย่างเดียววัน ละครั้งในตอนบ่าย ปล่อยไว้ที่ลานซึ่งเป็นพื้นดินและพื้นหญ้า ควรปล่อยให้หาอาหารเองตามธรรมชาติ ควรเสริมอาหารเมื้อเช้าและเมื้อเที่ยงให้ด้วย มื้อเช้าให้จำพวกผัก เนื้อสัตว์ตอนเที่ยงควรเป็นข้าวสารมื้อเย็นเป็นข้าวเปลือกเมื่อย่างเข้าฤดูร้อนและฤดูฝนไก่มักขาดสารอาหารควรให้อาหารเสริม เช่น ใบกระถินโดยนำไปตากแห้ง แล้วนำไปแช่ลงในน้ำสะอาด 1 วัน เพื่อลดสารพิษ เป็นการช่วยเสริมสารอาหารแก่ไก่เป็นอย่างดี
7. ไก่ใหญ่ อายุ 70 วัน หรือ 2.5 เดือนเป็นต้นไป ไก่อายุขนาดนี้ อยู่ในระยะที่ให้ผลผลิต คือ ไข่ไก่ เมื่อโตถึงขั้นนี้แล้วจะมีความสามารถหาอาหาร ตามธรรมชาติได้เป็นอย่างดี แต่ระยะนี้ไก่ให้ผลผลิตเพื่อสืบพันธุ์ไก่จึงมีความต้องการอาหารเพิ่มมากขึ้นกว่าปกติ ควร ให้ปลายข้าว รำ ข้าวเปลือก เปลือกหอย กระดองปู เพื่อให้มีการเสริมธาตุ อาหารแคลเซียมยมและฟอสฟอรัส เมื่อได้มาแล้วให้นำมาทุบให้ละเอียดใส่ภาชนะตั้งทิ้งไว้ให้ไก่กินได้ ตลอดจะเป็นผลดีต่อสุขภาพของไก่

แม่ไก่เลี้ยงลูกเอง
          เมื่อลูกไก่ออกจากไข่หมดแล้วควรให้แม่ไก่เลี้ยงลูกเองโดยการย้ายทั้งแม่ไก่และลูกไก่ลงมาขังในสุ่มหรือกรงบนพื้นดินที่แห้ง ในระยะแรกควรมีถาดอาหารสำหรับใส่รำ ปลายข้าวหรือเศษข้าวสุกให้ลูกไก่กิน และมีถ้วยหรืออ่างน้ำตื้น ๆ ใส่น้ำสะอาดให้กินตลอดเวลา เมื่อลูกไก่อายุประมาณ 2 อาทิตย์ ลูกไก่แข็งแรงดีแล้วก็เปิดสุ่มออกปล่อยให้ลูกไก่ไปหากินกับแม่ไก่ได้ ซึ่งโดยธรรมชาติแม่ไก่จะเลี้ยงลูกประมาณ 1-2 เดือน จึงจะแยกจากลูกเพื่อผสมพันธุ์และวางไข่ใหม่ หรือถ้าต้องการให้แม่ไก่เตรียมตัวไข่รุ่นต่อไปเร็วขึ้น หลังจากปล่อยให้เลี้ยงลูกได้ 2 อาทิตย์ ก็ให้แยกลูกออกจากแม่นำไปเลี้ยงในกรงต่างหาก เพื่อให้แม่ไก่พักตัวแล้วเตรียมตัวไข่รุ่นต่อไป ลูกไก่อายุ 2 อาทิตย์ที่แยกจากแม่ใหม่ๆ ยังหาอาหารไม่เก่งและยังป้องกันตัวเองไม่ได้ ต้องเลี้ยงในกรงต่างหากเพื่อให้ลูกไก่แข็งแรง ปราดเปรียวจนอายุได้เดือนครึ่งถึงสองเดือนจึงจะปล่อยเลี้ยงได้ ลูกไก่ระยะนี้เป็นช่วงที่ล่อแหลมมาก มักจะมีการตายมากที่สุดเจ้าของต้องดูแลเอาใสใส่อย่างใกล้ชิดเรื่องน้ำ อาหารและการป้องกันโรค ในกรณีที่มีแม่ไกเลี้ยงลูกขนาดต่าง ๆ กันหลายแม่ ควรจะมีสุ่มที่ขนาดตาถี่หรือตาห่างหลายๆ ขนาด มีอาหารและน้ำใส่ไว้ข้างในเพื่อเป็นการป้องกันไก่เล็กถูกเหยียบหรือเตะตาย เพราะไก่เล็กจะเข้าสุ่มที่มีรูเล็ก ลูกไก่รุ่นใหญ่ก็จะเข้าสุ่มที่มีตาใหญ่ ไก่รุ่นโตแล้วจะอยู่ข้างนอกเข้าไปไม่ได้ ซึ่งวิธีนี้จะเป็นการช่วยให้ลูกไก่เล็กได้กินอาหารเต็มที่ โตเร็วขึ้นและตายน้อยลง กรณีที่เกษตรกรมีไก่รุ่น อายุ 3-4 เดือน จำนวนมาก ๆ ควรนำมาเลี้ยงขังกรงขุนให้กินอาหารเต็มที่ลัก 1 เดือน จะทำให้ไก่อ้วนขายได้ราคาดีซึ่งจะเป็นวิธีการช่วยให้มีรายได้เพิ่มขึ้น

Sharing /แชร์