Sharing /แชร์
การเลี้ยงปล้ำให้เจ๋งเพื่อไปตีแล้วมีชัยชนะ
การเลี้ยงปล้ำวางไก่เพื่อไปตีนั้น ต้องใช้เวลาพอสมควร และอยู่กับความพร้อมของไก่แต่ละตัว เพื่อให้เคยชินกับการออกกำลังนานๆได้ เพราะเป็นเวลาที่ร่างกาย ของไก่จะต้องใช้ในการสร้างร่างกายให้แกร่ง เนื่องจากในสนามชนนั้นไม่อาจทราบได้ว่าจะเจอกับไก่ที่แข็งขนาดใหน ด้วยเหตุนี้ในการฝึกไก่ให้ออกกำลังกาย คือ ช่วงที่ต้องสร้างจิตใจให้ไก่มีความอนทนต่อความเจ็บปวด เพราะหากเจอคู่ต่อสู้ที่กระดูกแข็ง ไก่จะทนต่อการถูกคู่ต่อสู้ตีอย่างแรงๆและบ่อยๆได้ดี
สิ่งที่พิจารณาว่า”ไก่”พร้อมแล้ว เลี้ยงได้ที่แล้ว สามารถนำไปตีในสนามได้อย่างสมศักดิ์ศรี จะต้องพิจารณาจากสิ่งเหล่านี้ คือ
1. พิจารณาจากสภาพภายนอกของร่างกายไก่ ให้ส่วนต่างๆมีความพร้อม ไม่บาดเจ็บหรือมีแผล
2. ความแข็งแรงของเนื้อหนังรวมไปถึงกล้ามเนื้อ เส้นเอ็น กระดูกและข้อต่อของกระดูก มีความพร้อมที่จะถูกตีอย่างแรงๆ มากน้อยเพียงใดหรือที่เรียกว่ากระดูกแข็งพอ
3. พิจารณาจากการสมบูรณ์ของระบบภายในร่างกาย เช่น มีระบบหายใจที่ดี ที่สำคัญเมื่อลงพันตูกับคู่ต่อสู้ต้องหายใจได้ดีไม่มีติดขัด แม้ว่าปอดหรือหัวใจต้องทำงาน หนักก็ตาม ระบบย่อยอาหารก็ต้องพร้อมที่จะทำงานหนัก สามารถย่อยอาหารสร้างขุมพลังงานให้มีเรี่ยวแรงในการตีกับคู่ต่อสู้ได้เป็นเวลานาน
4. สภาพจิตใจของไก่ ต้องมีความคึกคะนองที่จะลงในสนาม เพื่อเป็นผู้ชนะ ดังนั้นเมื่อลงในสนามมันจะต่อสู้อย่างเด็ดเดี่ยว และกล้าหาญ ไม่มีคำว่ายอมแพ้เด็ดขาด
ส่วนการตัดสินใจของเจ้าของ ต้องคำนึงถึงตัวไก่ที่จะนำมาปล้ำด้วย จะต้อง”สุดปีกสุดหาง” บางคนเอาไปตีทั้งที่มีขนปีกอ่อน และมีขนอ่อนตามตัวประปราย พอนำไปตีขนปีกอ่อนตามตัวก็จะแตกและหลุดทำให้มีเลือดไหลไม่หยุด ทำให้เสียไก่ไปโดยใช่เหตุ
การเลี้ยงปล้ำวางไก่เชิงมุด มัด แบก ขี่ ต้องทำในขณะไก่มีร่างกายที่สมบูรณ์ ทั้งภายในและภายนอก มีความเต็มใจที่จะต่อสู้อย่างเต็มตัว การปล้ำวางในหลายครั้ง นั้นก็มีเป้าหมายที่มีการปั้นเชิง ปั้นใจให้แกร่ง ปล้ำวัดความเก่ง
สำหรับการปั้นเชิงนั้น ก็เพื่อทำการทบทวนความจำให้ไก่ชินกับการใช้ชั้นเชิงและเพิ่มความแกร่งให้กับตัวไก่ โดยการปล้ำครั้งแรกๆควรหาไก่ยืน อาจจะตัวเล็กๆ และหนักน้อยกว่า และไม่ควรเก่งกว่ามาปล้ำ เพื่อให้ไก่ได้ใจ ใช้ชั้นเชิงได้เต็มที่ และพยายามหาคู่ปล้ำหลายๆแบบค่อยๆเพิ่มความเก่งขึ้นไป แต่อย่าให้เก่งกว่าไก่เรา เพื่อให้ไก่ของเราย่ามใจกับการต่อสู้ อยากที่จะลงสนามทุกครั้งไป เมื่อแน่ใจว่าปั้นไก่เป็นที่ต้องการแล้ว ก็สามารถนำไปวัดกับไก่เก่งได้
เรื่องของการปั้นใจ เป็นธรรมชาติของไก่เชิงมัด มุด แบก ขี่ เป็นไก่เชิงล่าง มักจะแพ้ทางคู่ต่อสู้ที่เป็นไก่เชิงบนที่ กอด กด ขี่ จะสู้ไม่ได้และจะไม่สู้หน้าไก่ ดังนั้น
เมื่อมีการปั้นเชิงก็ต้องมีการปั้นใจควบคู่กันไปด้วย เพื่อบังคับให้ไก่มีความมั่นใจที่จะใช้เชิงบังคับตีคู่ต่อสู้ได้ และพยายามที่จะตีคู่ต่อสู้ให้ได้ด้วย
สำหรับไก่หนุ่มเชิงมุด มัด แบก ขี่ ควรทำการปั้นหลายๆครั้ง ปั้น 3 ครั้งขึ้นไป อาจเป็นการปล้ำช้ำๆเอาไว้ คือ ไม่ได้กาดน้ำทำตัว ไม่ได้ออกกำลังกายบ่อยๆ อย่างจริงจัง ปล้ำบ่อยๆเพื่อให้เกิดความแข็งแรง
แต่ถ้าเป็นไก่สุดปีกสุดหางมีลักษณะแข็งแรง ก็ปล้ำครอบเลี้ยงได้เลย คือ ทำการกาดน้ำทำตัว และให้ออกกำลังกายวิ่งสุ่มอย่างจริงจัง โดยจัดเวลาปล้ำให้ เหมาะสม เช่น ปล้ำครั้งแรกไม่ควรเกิน 20 นาที(1ยก) อีกไม่เกินสองอาทิตย์ก็จัดการปล้ำวางครั้งที่2 ไม่ควรเกินสองยก อีกอาทิตย์หนึ่งหรือ 10 วันก็จับปล้ำ 2 ยก เมื่อแน่ใจว่าไก่ใช้ได้ก็เริ่มครอบเลี้ยง จากนั้นก็จัดให้มีการปล้ำเอาแรง โดยหาคู่ต่อสู้ที่ไม่เก่งมาลงปล้ำให้ได้ 2 ยก ถ้าปล้ำไม่ครบก็ต้องกลับไปเริ่มปล้ำเลี้ยงกันใหม่
ส่วนการปล้ำวัดความเก่ง เพื่อที่จะดูว่าไก่มีความพร้อมแค่ใหน ควรจะหาคู่เปรียบที่มีร่างกายพอฟัดพอเหวี่ยง มีความเก่งพอๆกัน เป็นการทดสอบว่าไก่จะผ่านหรือไม่ แต่การปล้ำแบบนี้มักจะไม่ให้เกิน 2 ยก หรือบางครั้งก็ไม่ครบยก เนื่องจากไก่ทั้งสองฝ่ายจะตีล้างกันไปกันมาต่างได้บาดแผล เพราะขืนให้ปล้ำต่อไปอาจจะทำให้ ไก่ตัวใดตัวหนึ่งเสียไก่ก็เป็นได้
การปล้ำเอาคอ เป็นการหาคู่ปล้ำที่เป็นไก่ตีคอเพิ่อให้ไก่ของเราเคยชินกับไก่ประเภทนี้ เพราะจะได้เคยคอและคอของไก่จะได้แข็งแรง หากไก่ของเรามีชั้นเชิงไหวพริบดี ก็จะเห็นการแก้เป็นอย่างไร เช่น กอด กด ขี่ หรือออกลีลาหากเดินไม่ทันก็จะกดบ่าตีตัว เป็นต้น แต่ควรปล้ำพอสมควร และหาไก่ปล้ำที่ตีไม่แรง เพราะการถูกตีบ่อยๆ จะทำให้ไก่ของเราไม่กล้าขึ้นขี่ และหากถูกตีมากๆอาจเกิดความขยาดแข้งก็เป็นได้
อย่างไรก็ดี การปล้ำไก่ควรหาไก่หลายประเภทมาทดสอบฝีมือของไก่ ไก่จะได้ทดสอบ ฝีมืออันหลากหลาย นอกเหนือจากการสร้างความแข็งแกร่งให้กับไก่ของเรา |
1. เข้าใจสรีระของไก่
- ยืนหยิ่ง มักเป็นไก่เชิงบน คือคุมบนหรือไก่หน้าหงอน
- ยืนเฉียง ไก่ที่ยืนเฉียงเป็นมุม 45 องศา มักเป็นไก่ 2 ปีก 2 คอ และเท้าหุ่นตีตัว
- ยืนทอด หรือยืนขนานกับพื้น มักเป็นไก่พานขึ้น พานลง หรือเป็นไก่ประเภทเชิงหนักล่าง มุด มัด แบกทะลุลอดขา
- ไก่ยืนหยิ่งขนหัวเรียบ มักเป็นไก่คุมบน ไก่หน้าหงอน ไก่แปะหน้าตี โดยมากมักจะเป็นไก่ปากไว ตีนไว รับรองว่าต้องเป็นไก่ประเภทปากถึง แข้งถึง
- ไก่ขนหัวไม่มาก คือ ไก่ที่ถูกคู่ต่อสู้จิกตีขนหัวล้านไปบางส่วน แต่ยังมีเหลืออยู่บ้าง แสดงว่าเป็นไก่ที่มีลีลาชั้นเชิงหนักบน ประเภท 2 ปีก 2 คอ หรืออาจจะเป็นไก่ที่พึ่งออกตีเป็นครั้งแรกก็ได้ จึงมีขนหัวอยู่บ้าง อย่าคิดว่าเป็นไก่ลง
- ไก่หัวโกลน คือ ไก่ที่ขนหัวไม่มีจนกลายเป็นไก่หัวโกลน คือ ไม่มีขนหัวหลงเหลืออยู่ มีแต่หนังแดงๆ ปกติโดยทั่วไปแสดงว่าเป็นไก่เชิง ประเภท มุด มัด มุดทะลุลอดขา แต่บางตัวไม่ใช่ ที่หัวโกลนนั้นเพราะผ่านสังเวียนมาหลายครั้ง หรือบางตัวเจ้าของถอนขนออก หรือบางคนถึงกับลงทุนโกนทิ้งก็มี เพื่อหลอกให้ฝ่ายตรงข้ามเข้าใจผิดว่าเป็นไก่ลง ดังนั้นเวลาเปรียบไก่เวลาเห็นคู่ต่อสู้หัวโล้น อย่าเหมาเอาว่าเป็นไก่ลง ปกติไก่ลงเชิงไม่ดี ไม่มีใครเขาเลี้ยงออกมาตีให้เสียเงิน เสียเวลาหรอก
- ไก่ที่มีรอยจิกหลังปีกมีแผลเป็นแดงๆ ไก่ที่รอยแผลเป็นที่หลังปีกแดงๆ มักเป็นไก่ประเภทเชิงหัวลึกพาดอยู่บนหลังคู่ต่อสู้ หรือประเภทเชิงกอด เชิงขี่แทบทุกตัว เวลาตีหย่าแม่ตอนเล็กๆ มักถูกคู่ตีจิกหลัง จิกไหล่ จึงทำให้เกิดรอยแผลเป็นแดงๆ ยิ่งตอนปล้ำหรือซ้อมคู่ ก็อาจถูกคู่ต่อสู้จิกตีซ้ำอีก
- ไก่ปากเบา คือ ไก่ที่เวลาถูกคนจับจะส่งเสียงร้อง กุ๊กๆ หรือ ก๊อกๆ เรียกว่า พอเราจับตัวจะส่งเสียงร้องตลอดเวลา แสดงว่าเป็นไก่ปากไว ประเภทปากถึง แข้งถึง
- ไก่แข้งกลมแข้งเล็ก มักเป็นไก่ที่ตีไว ตีแม่น ตีเจ็บ ถือว่าเป็นไก่อันตรายทีเดียว
- ไก่ตาแดง มักเป็นไก่ขี้โมโห เวลาถูกตีเจ็บมักเอาคืนและโต้ตอบแรงๆ
- ไก่หนุ่ม ไก่ถ่าย คนเปรียบต้องดูลักษณะไก่ออกว่าเป็นไก่หนุ่มหรือไก่ถ่าย ไม่ใช่เชื่อคำบอกเล่าของเจ้าของไก่ หรือดูเดือยอย่างเดียวว่าเดือยสั้นเป็นไก่หนุ่ม ต้องดูลักษณะเกล็ด ดูแข้ง ดูผิวประกอบด้วย
- ขนปีก ไก่บางตัวขนน้อย บางตัวขนมาก ไก่ขนน้อยดูตัวเล็ก ไก่ที่ปีกหักหรือตัดปีกออก เวลาจับจะรู้สึกว่าตัวเล็ก แต่ตัวไก่ที่มีปีกเต็ม เวลาจับจะรู้สึกว่าตัวใหญ่ ดังนั้นเวลาเปรียบไก่ต้องสังเกตให้ดี ไม่แน่ใจให้คลี่ปีกดู เดี๋ยวนี้มีเทคนิคการตัดปีกไก่ออกเวลาเข้าเปรียบ พอได้คู่ก็ต่อปีกใหม่ เรียกเหลี่ยมใครเหลี่ยมมัน
- ไก่ลักษณะพิเศษ เช่น ไก่ที่ไม่มีเดือย ไก่อกคด ไก่ไม่มีหาง ไก่ปลายปีกงอ ไก่เหล่านี้ปกติไม่เก่งจริงๆ ไม่มีใครเลี้ยงออกตีแน่ ดังนั้นอย่าประมาทไก่พิการ ไก่ที่มีลักษณะไม่ค่อยสมประกอบ อย่าให้เขาได้เปรียบเป็นอันขาดเพราะไก่จำพวกนี้ มักเป็นไก่ที่มีคุณสมบัติพิเศษไม่ธรรมดาแน่ๆ รวมทั้งไก่ที่มีสีไม่มีกุลรุนชาติก็อย่าได้ดูถูก เพราะไก่ไม่ได้ใช้สีตีแต่ใช้แข้งตี
- ใจเย็น คนเปรียบไก่ต้องเป็นคนใจเย็น อย่าให้คนอารมณ์ร้อน ขี้โมโหเปรียบไก่ เพราะคนขี้โมโห อารมณ์ร้อนโดนยั่วอาจจะตกหลุมพรางของคู่ต่อสู้ได้
- อ่านชั้นเชิงคู่ต่อสู้ออก คนเปรียบไก่ต้องเป็นคนที่อ่านทางไก่ออก แม้ว่าจะไม่เต็ม 100% ก็ยังดีกว่าดูไม่ออกเลย คนเปรียบไก่ที่เก่งเขาจะอ่านออกว่าไก่ของเราตีเพลงไหน คู่ต่อสู้มีชั้นเชิงอย่างไร ? เรียกว่ารู้เขารู้เรา เช่น ไก่เราชอบบน เวลาเปรียบก็อย่าให้ เสียเปรียบสูงเป็นอันขาด แต่ถ้าเราได้รอยกว่า แต่ตัวยุบกว่า หากไก่ชอบบนก็เอาได้ แต่ถ้าไก่เราเก่งตีล่าง หน้าคอ หัวปีก เท้าหุ่น ก็ยอมให้เขาได้สูงกว่าประมาณ 5-4 ได้ แต่เราต้องได้เปรียบตัวหนากว่า เป็นต้น
เคล็ดลับของมือเปรียบไก่อีกอย่างหนึ่ง คือ ชอบกดหลังไก่ให้ยืนย่อ จนไก่บางตัวยืนย่อจนเคยตัว บางคนชอบเอาไก่ไปเปรียบอยู่ตรงที่ต่ำเพื่อให้ดูว่าไก่ของตนเตี้ย บางคนก็ตัดปีกทำให้ดูว่าไก่ตัวเล็ก บางคนก็เอาแป้งหรือดินสอพองทาตัวทำให้ผิวของไก่ไม่น่ากลัว สุดแท้แต่ใครจะหากลยุทธ์มาใช้ เพื่อเอาเปรียบคู่ต่อสู้ ข้อสำคัญ เราต้องไม่ประมาท ไม่ดูถูกคู่ต่อสู้ ไม่ถือว่าไก่ของเราเก่งสุดยอดไม่กลัวไก่ตัวใดทั้งสิ้น
หลักการต่างๆที่กล่าวมา คงใช้ไม่ได้สำหรับการเปรียบไก่ทางภาคใต้ เพราะภาคใต้การเปรียบไก่ ห้ามจับไก่คู่ต่อสู้ ได้แต่ดูและสังเกตด้วยตาอย่างเดียว ดังนั้นมือเปรียบจะต้องชำนาญ มองด้วยตาก็สามารถอ่านคู่ต่อสู้ออกว่าสูงหรือต่ำ น้ำหนักมากน้อยเท่าไร สามารถประมาณได้ถูก ว่าได้เปรียบหรือเสียเปรียบอย่างไร?
การคาดการณ์เชิงของคู่ต่อสู้
1. ไก่เชิงยืนแปะหน้าตีกัน ขาตาย ไม่ฟุตเวิร์ก ชอบหน้าคอและตุ้ม การเปรียบถ้าเราได้หนากว่า หรือถ้าเสียเปรียบเตี้ยกว่าหน่อย ก็พอจะตีกันได้ ดูไก่คู่ต่อสู้ขนหัวเต็มๆ คอขนเซาะๆ ยืนตั้งตรง ก้อยเขย่ง แต่ถ้าได้ไหล่เท่ากันจะดี ตัวไหนขนหัวกร่อนๆน่าจะเป็นไก่ลง ไก่มัด หรือยืนตัวเอนๆจับคอแล้วยืดไปข้างหน้าขนหัวเต็ม ขนคอไม่เซาะเป็นไก่เชิง กอด กด ขี่ ไก่ชอบหน้าคอ จั่วลม หงายไพ่ตีตัวเอง ไม่เอาหลบ ยืนตัวทอดขนานกับพื้น จับคอแล้วยึดหน้าอย่างม้าวิ่ง หัวกร่อน มุด มัด หลบซ่อนแน่ๆ ต้องหลบขืนตีด้วยเสี่ยง
2. ไก่ยืนแปะหน้าตีกัน ขาไม่เดิน ไม่ฟุตเวิร์ก ชอบหัวและหน้าหงอน การเปรียบชนถ้าหากสูงพอกันหรือสูงกว่าคู่ต่อสู้จะดี ถ้าต่ำกว่าจะลำบาก จะตะกายเอาหัวไม่ได้ในไก่เชิงเดียวกัน ยืนแปะหน้าเหมือนกัน ถ้าเจอไก่เชิง กอด กด ขี่ บด บี้ ขยี้ ล็อก มัด ลงจิกขา ลอดทะลุหลัง จะเสียเปรียบหนัก เรียกว่า มีลูกหากินน้อย
3. ไก่เชิงยืน(เดินใน) คอกอดบิดซ้าย-ขวา ขาเดินในเร็ว ฟุตเวิร์กดี ชอบหน้าคอ หน้าหงอน หัว กระจายออกมาดีดแข้งเปล่าเข้าบ้อง เข้าตัว เจอไก่ กอด กด ขี่ ถ้าเดินไม่ทันจะกดบ่าตีตัว ไก่เข้าปีกจะกดไม่ให้ออกกรณีเข้ามัดได้แล้ว หรือพยายามขยับปีกและหมุนตัว ไม่ให้คู่ต่อสู้เข้าปีก ไก่แบบนี้เป็นไก่ปากเร็ว เรียกว่าปากถึง ตีนถึง ตีเจ็บ เปรียบสบาย เปรียบได้เชิงอะไรก็ตีทั้งนั้น
4. ไก่เชิง กอด กด ขี่ (มัดและทะลุตูด) เป็นไก่ 2 คอ ประเภทบนจัด ชอบหัวและหูนอก ตีหัวและหลัง ชอบไก่ยืนหรือไก่เชิงบนเหมือนกัน ถ้าเจอไก่มัดจัดลำบาก ไก่เชิงบนจัดอย่างเดียว ถ้าเจอไก่ยืนจะเสียเปรียบ ต่ำกว่าก็อันตราย จะเสียเปรียบสูงมาก มัวแต่จะตะกายตีหัว จะแพ้ไก่ยืน
5. ไก่เชิง กอด กด ขี่ ขยี้ บด บี้ ล็อก มัด (เชิงล่าง ล็อก มัด 60% บน 40%) ประเภทไก่ล่างจัด ถ้าคู่ต่อสู้บนจัด เหลี่ยมคอสู้ไม่ได้ จะเล่นเพลงล่างเข้า มุด มัด ไก่ประเภทนี้มักจะล่ำเตี้ย ส่วนใหญ่จะแพ้ไก่ขี่บนจัด โดยเฉพาะถ้าเสียเปรียบสูงมากๆ เพราะลูกถนัด ลูกหากิน เข้าปีกจะหมดประสิทธิภาพลงทันที ถ้าไม่สามารถทำเชิงมัดปีก ตีสวาปหรือหลังได้ เพราะโผล่หัวออกมาไม่ได้ ในไก่มัดจัดๆถ้าไม่สามารถทำให้คู่ต่อสู้บาดเจ็บได้ก็มีแต่จะแพ้อย่างเดียว
6. ไก่เชิงบนมีล่างสลับ เป็นไก่ประเภทบนจัด เดินในดี วงในเหนียวแน่น ถ้าเดินเพลี้ยงพล้ำเสียเหลี่ยมกำลัง จะขวางให้คู่ต่อสู้หลบเข้าปีก หรือท้อง ทำเชิงมัดกลายเป็นได้เปรียบ รูปเชิงไก่เชิงแบบนี้เปรียบตีง่าย เปรียบไม่ให้เสียเปรียบก็พอแล้ว ไม่ต้องคำนึงถึงคู่ต่อสู้ว่าจะเป็นเชิงอะไร
เคล็ดลับในการเปรียบไก่
การเปรียบไก่ทุกครั้ง ให้ดูที่สกุลของไก่เป็นอันดับแรก คือ ดูที่เกล็ดของไก่ ว่าเกล็ดเขาดีไหม เกล็ดเราเป็นอย่างไร ถ้าเกล็ดของเราเหนือกว่าเขา เราค่อยดูตัวของไก่เขาต่อไป ถ้าเกล็ดเราสู้เขาไม่ได้แต่ความแข็งเหนือกว่าก็สามารถตีได้
เทคนิคการเปรียบไก่ในด้านรูปร่าง
เมื่อนำไก่เข้าสู่สนามชน ต้องพักไก่ก่อนสักระยะหนึ่งเพื่อให้ไก่หายเหนื่อย แล้วจึงนำไก่ไปเปรียบ เมื่อนำไก่เข้าสู่บริเวณที่เปรียบ ให้มองหาตัวที่มีรูปร่างใกล้เคียงกับไก่เรา จึงเข้าไปเปรียบได้ เพราะหากนำไก่ไปเปรียบกับไก่ที่เล็กกว่า อาจถูกฝ่ายตรงข้ามต่อว่าซึ่งผิดมารยาท และหากว่านำไก่ไปเปรียบกับไก่ที่โตกว่าเขาจะหัวเราะเยาะได้ ซึ่งถือเป็นการเสียเหลี่ยม
เทคนิคการเปรียบไก่ในด้านอายุ
เมื่อสังเกตดูแล้วว่าไก่นั้นมีรูปร่างใกล้เคียงกัน ลำดับต่อมาต้องดูอายุของไก่ว่ามีอายุใกล้เคียงกันหรือไม่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากว่าไก่ของเราเป็นไก่หนุ่มหรืออายุยังน้อยอยู่ยิ่งต้องดูให้ละเอียดเป็นพิเศษ แต่ถ้าไก่ของเรามีอายุดีแล้วหรือว่าไก่ถ่าย ก็ไม่ต้องกลัวเรื่องอายุ ขอให้รูปร่าง น้ำหนักใกล้เคียงกันก็พอตีกันได้ ในการวิเคราะห์ดูว่าไก่ของฝ่ายตรงข้ามเป็นไก่หนุ่มหรือไก่ถ่ายให้สังเกตดูดังนี้
- ให้ดูเดือยก่อนเป็นอันดับแรก หากเป็นไก่ที่เดือยยาวแหลม แสดงว่าเป็นไก่ที่มีอายุดีหรืออาจเป็นไก่ถ่าย ถ้าเดือยมีการตัดเป็นปากฉลามหรือตัดเฉียงนั้นแสดงว่าไก่ก็มีอายุดีแล้ว ถ้าเดือยสั้นและโคนยังไม่แข็ง คือจับดูแล้วยังไม่แน่นมาก เดือยยังโอนเอน นิดหน่อย ปลายไม่แหลมแสดงว่าเป็นไก่ที่อายุยังน้อยหรือไก่หนุ่ม แต่การดูเดือยไก่อาจจะผิดพลาดได้ เพราะเดือยสามารถตัดแต่งได้และสังเกตได้ยาก หากไก่ฝ่ายตรงข้ามเป็นไก้เดือยครุฑหรือเดือยกาม เดือยจะไม่งอกออกมายาว บางตัวอาจไม่มีเดือยเลย จึงทำให้สังเกตได้ยากมาก
- ดูเกล็ดแข้ง ธรรมชาติของไก่เมื่อถ่ายขน เกล็ดแข้งก็จะหลุดร่วงหรือเปลี่ยนถ่ายไปด้วย ให้สังเกตดูว่าแข้งไก่มีร่องรอยของการเปลี่ยนเกล็ดหรือไม่ อาจจะมีร่องรอยอยู่ตามรอยเชื่อมของเกล็ดหรือมีเกล็ดที่ยังร่อนหรือร่วงออกไม่หมดติดค้างอยู่ ซึ่งแสดงว่าไก่ตัวนั้นเป็นไก่ที่มีอายุดีหรือถ่ายขนมาแล้ว หรือแข้งไก่อาจมีลักษณะของเกล็ดแห้งที่แข้งมาก เกล็ดแข้งเป็นสัน เกล็ดนิ้วแห้งหนา แสดงว่าเป็นไก่ที่ถ่ายขนมาแล้วหรือไก่ลูกถ่ายนั้นเอง
- ดูลักษณะขน ไก่เมื่อถ่ายขนแล้วจะมีขนใหม่ขึ้นมาทดแทน แต่ว่าจะมีขนเก่าติดอยู่ ทั้งขนตัวและขนหาง ให้สังเกตดูว่าไก่ของฝ่ายตรงข้ามมีขนใหม่และขนเก่าติดอยู่หรือไม่ ซึ่งขนใหม่และขนเก่าจะมีคนละสี ขนหางก็เช่นกัน นั้นแสดงว่าไก่ตัวนั้นเป็นไก่ลูกถ่าย
เทคนิคการเปรียบไก่ด้านน้ำหนัก
โดยการจับไก่วัดกะน้ำหนักดู ว่าไก่ของเรากับของฝ่ายตรงข้ามมีน้ำหนักใกล้เคียงกันหรือไม่ โดยการจับที่กลางลำตัวบีบเข้าพอตึงมือ ยกขึ้นสูงกว่าพื้น จดจำน้ำหนักที่ถ่วงไว้ แล้วเปรียบเทียบให้ใกล้เคียงกัน
เทคนิคการดูความกว้างความยาวลำตัว
ให้ดูว่าไก่ของเรากับไก่ฝ่ายตรงข้าม มีความกว้างของลำตัวหรือแคร่หลังขนาดใกล้เคียงกันหรือไม่ ทั้งด้านหน้าอกและบริเวณแผ่นหลัง เพราะหากไก่ของเราแผ่นหลังแคบกว่า หน้าอกแคบกว่า เมื่อปล่อยลงสนามชน ไก่ของเราจะดูตัวเล็กกว่า และต้องเปิดดูปีกของฝ่ายตรงข้ามด้วยว่า ปีกของฝ่ายตรงข้ามสมบูรณ์หรือไม่ มีปีกครบหรือหักมากน้อยขนาดไหน เพราะหากไก่ของฝ่ายตรงข้ามปีกหักเยอะหรือแทบไม่มีเลย ในเวลาเปรียบดูแล้วความกว้างพอกัน หน้าอกกว้างพอกัน แต่เมื่อคู่ต่อสู้ต่อปีกมาจะยิ่งดูตัวโตกว่าเรามาก และการดูแผ่นหลังนั้นต้องดูความยาวของแผ่นหลังด้วย เพราะไก่ที่ลำตัวยาวจะได้เปรียบไก่ที่ลำตัวสั้น โดยให้สังเกตดูจากการจับและสังเกตดูโดการวัด ด้วยการใช้คืบนิ้ววัดดูหรือกะดูด้วยสายตา ไก่ที่ตัวยาวจะได้เปรียบในเรื่องความสูง เมื่อปล่อยเข้าชน จึงจำเป็นต้องละเอียดรอบครอบให้มากที่สุด
เทคนิคการดูปลายคอ
ไก่ที่มีปลายคอยาว จะได้เปรียบไก่ที่มีคอสั้น ให้สังเกตดูโดยการเตาะใต้คางไก่ทั้งสองตัวให้ยืดเต็มที่ แล้วสังเกตความยาวจากต้นคอถึงหัวของไก่ หากตัวใดคอยาวกว่าจะมีผลในเรื่องของความสูงเมื่อปล่อยเข้าสังเวียน
เทคนิคการเปรียบไก่ด้านความสูง
ในการเปรียบไก่ในด้านความสูงนั้น มีวิธีดูหลากหลายวิธี ในการเปรียบไก่นั้นควรระมัดระวังเป็นอย่างยิ่งอย่าให้เสียเปรียบในด้านความสูงเพราะ จะทำให้ไก่ของเราเสียเปรียบในเชิงชนและการบินตี หากชั้นเชิงเท่าเทียมกัน แข็งแกร่งพอกัน แต่เราเสียเปรียบสูง ไก่ของเราจะเป็นตัวที่ต้องเสียเชิงให้กับคู่ต่อสู้ จะทำให้การบินตีไม่ถนัด จะติดปีก ติดไหล่ คือตีได้ไม่เต็มที่ ยิ่งถ้าไก่เราเป็นไก่ตีแผลหู ตา ไปเจอคู่ต่อสู้ที่หัวสูงไม่ยอมลง จะทำให้ไก่ของเราตีไม่ถึงแผลที่ชอบ ถึงตีได้ก็ไม่ถนัด ไม่เต็มปาก เต็มคำ ถ้าสูงกว่ามากอย่าชนเพราะมีโอกาสแพ้สูง วิธีการเปรียบไก่ด้านความสูงมีดังนี้
ให้นำไก่ทั้งสองตัวมาเทียบใกล้ๆกัน แล้วเตาะคางไก่ให้ชูหัวให้เต็มที่ เมื่อมองดูโดยการเตาะใต้คางดูแล้วมีความสูงใกล้เคียงกัน ลำดับต่อมาให้ดูให้ดูที่ความสูงช่วงขา ตั้งแต่พื้นไปจนถึงข้อพับ ดูว่าไก่ตัวใดมีช่วงขายาวกว่า ต่อมาให้ดูที่หัวไหล่หรือบ่าว่าตัวใดบ่าสูงกว่ากันอีกอย่างให้สังเกตดูโคนหาง ว่าตัวใดมีโคนหางสูงกว่า ไก่ตัวที่มีช่วงส่วนต่างๆที่กล่าวมาโดยรวมแล้วสูงหรือยาวกว่า จะได้เปรียบในเรื่องความสูง
เทคนิคการเปรียบไก่ด้านกระดูกเสันสายและผิวพรรณ
ในการดูกระดูกเสันสายและผิวพรรณ ให้วิเคราะห์จากการจับตัวในขณะเปรียบ ไก่ที่กระดูกเส้นสายดี เวลาจับแล้วเนื้อตัวจะแข็ง จะรู้สึกได้ว่ากระดูกแข็ง กระดูกใหญ่ กระดูกดี ลำคอต้องใหญ่มีกล้ามเนื้อลำคอมากและแข็ง ส่วนในเรื่องของผิวพรรณนั้นสังเกตได้ด้วยตาเปล่า ให้สังเกตในส่วนของ ปั้นขา ลำตัว ลำคอ หน้าอก หากไก่ที่มีผิวพรรณดีจะมีผิวสีแดงสด และผิวพรรณจะดูหยาบกร้านกว่าปกติ นั้นแสดงว่าเป็นไก่ที่ผ่านศึกมาเยอะ แต่ไก่บางตัวถึงแม้จะผ่านศึกมาเยอะแต่ว่าผิวพรรณนั้นดูไม่น่ากลัว คือดูแล้วไม่หยาบกร้าน เนื้อไม่แดงมากมาย ดังนั้นจึงจำเป็นต้องวิเคราะห์ควบคู่กับการจับตัวดูกระดูกและเส้นสายด้วย
การเปรียบไก่ด้านเดือย
ไก่ที่มีเดือยยาวกว่า แหลมกว่า ย่อมได้เปรียบไก่ที่เดือยสั้น ปลายทู้ หากว่าไก่คู่ต่อสู้มีเดือยยาวและแหลมมากก็ไม่ต้องชน เพราะโอกาสที่ไก่ของเราจะเสียไก่จากโดนเดือยแทงมีสูง หากเดือยไก่ทั้งสองตัวมีความยาว ความแหลมใกล้เคียงกัน ก็ตกลงชนกันได้หรือหากพันเดือยควรพันเท่ากัน แต่ถ้าหากไก่เดือยเท่ากันแต่รูปร่างเราเสียเปรียบ เราอาจขอให้คู่ต่อสู้พันเดือยมากกว่าสัก 1-2 รอบ เพื่อเป็นการทดแทนความเสียเปรียบในด้านรูปร่าง
วิธีเปรียบไก่ก่อนชน
การเปรียบไก่เป็นชั้นเชิงของนักเลงไก่ชนทุกประเภท ถือว่าเป็นความสำคัญที่สุดในการชนไก่ก็ว่าได้
เพราะถ้าเปรียบไก่เสียเปรียบคู่ต่อสู้แล้ว ทางชนะมีอยู่แค่ 30% เท่านั้น นอกเสียจากไก่ของเราเก่งมากจริง ๆ จึงจะชนะได้ ถ้าท่านเป็นนักเลงไก่ที่ดีควรเปรียบไก่ให้รอบคอบ อย่าให้เสียเปรียบคู่ต่อสู้เป็นอันขาด ถ้าเปรียบไก่ได้เปรียบคู่ต่อสู้แล้ว จะเป็นทางนำมาซึ่งชัยชนะอย่างง่ายดาย เคล็ดลับในการเปรียบไก่มีอยู่ด้วยกัน 5 วิธีคือ
1. อายุ ควรพิจารณาคู่ต่อสู้ว่าเป็นไก่รุ่นเดียวกันหรือเปล่า แต่ถ้าของเราเป็นไก่ถ่ายของคู่ ต่อสู้เป็นไก่หนุ่มแล้ว ปัญหาเรื่องอายุก็หมดไป
2. ผิวพรรณ ต้องดูหน้าตาคู่ต่อสู้ว่าหน้าตาแก่กร้านมากกว่าเราหรือเปล่า ถ้าผิวพรรณหน้าตาแก่กร้านมากกว่าเรา การเอาชนะก็จะยาก
3. การจับตัว การเปรียบไก่ต้องจับตัวไก่คู่ต่อสู้ การจับไก่ต้องจับให้แน่นและดูบุคลิกลักษณะของคู่ต่อสู้ว่า แคร่หลัง คอ ปั้นขา ส่วนต่าง ๆ อย่าให้ใหญ่กว่าของเราเป็นการดี
4. ส่วนสูง เราต้องเปรียบตามลักษณะของไก่ของเราชอบ ถ้าไก่ชอบตีบน ควรเปรียบให้ สูงกว่าคู่ต่อสู้ แต่ถ้าไก่ชอบตุ้มชอบคาง ก็ควรเปรียบให้ต่ำกว่าคู่ต่อสู้เล็กน้อย (แต่ต้องให้ตัวของเราใหญ่กว่านิดหน่อยจึงจะพอดีกัน) บางคนชั้นเชิงการเปรียบไก่สูงมากมักจะกดไก่ให้ตัวต่ำมากเวลาเปรียบ
ข้อนี้ท่านต้องพิจารณาให้ดี พิจารณาด้วยตัวของท่านเองว่าจะตีได้หรือไม่ได้
5. การดูสกุลไก่ การดูสกุลไก่ต้องดูว่าลักษณะไก่คู่ต่อสู้มีสีสันอะไร หน้าตาเป็นอย่างไรเกล็ดตามขา
หน้าแข้ง เป็นอย่างไรดีกว่าเราหรือเปล่า ถ้าคู่ต่อสู้มีดีกว่าเรา
เราไม่ควรชนด้วย เพราะโอกาสชนะมีน้อยมาก ถ้าลักษณะคล้ายคลึงกัน การแพ้ ชนะอยู่ที่น้ำเลี้ยงของไก่เอง
สนใจสินค้าช่วยออกกำลังกาย กรงบังคับวิ่ง มอเตอร์ จานวิ่งมอเตอร์
ติดต่อได้ Facebook Res sinthu หรือโทร 0649745133
Sharing /แชร์