การเลี้ยงไก่ออกชน

Sharing /แชร์

กรงบังคับวิ่ง และจานวิงมอเตอร์ สามารถกดเพื่อดูตัวอย่างได้ครับตลิกที่ช่องนั้นๆได้เลย

สนใจสินค้าติดต่อได้ครับ 061974513

การเลี้ยงไก่ออกชน *** วีดีโอด้านบนสามารถคลิกดูได้ เผื่อท่านสนใจเอาไปช่วยออกกำลังการอีกวิธี

การที่เราจะเลี้ยงไก่ออกชนนั้น ก่อนอื่นเราต้องรู้ก่อนว่า ไก่ตัวไหนที่มีความฉลาด มีความสามารถในเชิงชนมากน้อยแค่ไหน ชั้นเชิงดีไหม ตีเจ็บไหม ตีถูกไก่ดีไหม จิตใจดีไหม ส่วนประกอบต่างๆเหล่านี้ต้องพิจารณาให้ดี การที่จะคัดไก่เพื่อเอาไว้เลี้ยงชน เราต้องเลือกไก่ที่มีอายุหน่อย และต้องรู้ฤดูนั้นเป็นฤดูไก่หนุ่มหรือไก่แซม ไก่ถ่าย ถ้ารู้ก็จะได้เตรียมไก่ไว้ให้ถูกต้องตามฤดูกาล การที่เราจะเล่นไก่หนุ่มเราควรจะหาไก่ที่มีอายุสักหน่อย คือ ให้มีอายุชน 12 เดือนเสียก่อนค่อยนำมาเลี้ยงออกชน การที่เราต้องรอให้ครบ 1 ปีนั้น เพื่อต้องการให้ไก่มีความแข็งแกร่งในด้านกระดูก ในด้านกล้ามเนื้อ และด้านจิตใจ ถ้าเรานำไก่อายุน้อยเกินไป เช่นอายุ 10-11 เดือน นำมาซ้อมหรือฝึกบ่อยๆเกินไป ส่วนมากจะชนได้ไม่นาน เพราะบางทีหรือบางตัวพอวางมากๆเข้าจะทำให้ไก่เกิดการท้อใจได้ พาลไม่สู้ไก่เอาเฉยๆเลยก็มี แต่ถ้าเราเอาไก่ที่มีอายุมากหน่อย ตั้งแต่ 12 เดือนไปแล้วนำไปวางฝึกซ้อมส่วนมากจะดีกว่าไก่ที่มีอายุน้อยๆ เพราะไก่ที่เป็นหนุ่มเต็มตัวแล้วจะมีอาการหึงหวงตัวเมียเป็นธรรมชาติของสัตว์ และก็เกิดการแย่งชิงความเป็นใหญ่ในฝูง หรือในบ้านนั้นๆ เพราะฉะนั้นไก่หนุ่มที่มีอายุมากๆจึงไม่ค่อยท้อใจในเวลาซ้อม การซ้อมก็ควรหาคู่ซ้อมที่อายุรุ่นราวคราวเดียวกัน เลี้ยงไก่เราต้องใจเย็นๆอย่าใจร้อนต้องพิจารณาให้ดี
การเลี้ยงไก่ออกชนนั้นไก่หนุ่มจะไม่ค่อยยากเหมือนไก่แซม ไก่ถ่าย เพราะไก่หนุ่มถ้าเลี้ยงมากเกินไปจะทำให้ไก่ไม่ค่อยตีไก่ ถ้าเลี้ยงน้อยเกินไปก็จะทำให้ไก่ไม่ค่อยมีกำลัง เราต้องเลี้ยงให้พอดีๆ การเลี้ยงไก่ออกชนนั้นเราต้องซ้อมให้ได้หน้า คือเราต้องซ้อมจนกว่าหน้าของไก่จะไม่ฟู บวม พอแผลที่หน้าหายดีแล้วก็ถ่ายยาลุ ถ่ายลุภายในที่ถูกตีเมื่อเวลาซ้อม หลังจากถ่ายยาสัก 3 วันก็เริ่มลงมือเลี้ยงได้เต็มที่
การเลี้ยงไก่แซม ไก่ถ่ายต่างกับไก่หนุ่มมาก คือ เราต้องวางให้มากเข้าไว้อย่างน้อยต้อง 10-12 ยกขึ้นไป วางให้จนเข้าที่เหมือนเดิมให้ได้ อย่าไปสงสาร เพราะไก่แซม ไก่ถ่ายนั้นหนังจะหนา กระดูกก็จะแข็งมากไม่ต้องกลัวจะออกไก่ แต่ถ้าวางออกไก่แสดงว่าใจไม่สู้หรือใจไม่ดี ไม่พร้อมที่จะชน บางตัวตอนอายุหนุ่มๆ ชนดี ชนชนะหลายเที่ยว ชนจนขนเริ่มหลุด เริ่มแซม พอหลังจากแซมสุดหมดแล้วไม่สู้ไก่ก็มี บางตัวตอนหนุ่มๆไม่สู้ไก่ แต่พอแซมสุดหมดแล้วสู้ไม่เลือกหน้าก็มี
การเลี้ยงไก่ออกชนนั้น จำเป็นต้องให้กินยาบำรุงกำลังตลอดระยะเวลาการเลี้ยง พร้อมจะออกชนในสนาม ยาบำรุงของไก่ที่ขาดไม่ได้เลยนั้น ควรเน้นยาสมุนไพรโบราณให้มากที่สุด ตัวยามีดังนี้

  • บอระเพ็ดผง
  • หัวแห้วหมูผง
  • กระเทียมครึ่งกิโล บดให้ละเอียดตากแห้งแล้วบดให้เป็นผง
  • กระชาย 2 กำ ตากแดดให้แห้งบดให้เป็นผง
  • พริกไทยเม็ด บดให้เป็นผง
  • ยาดำ บดให้เป็นผง
  • นกกระจอก 7 ตัว ย่างไฟให้สุกตากแดดให้แห้ง แล้วบดให้เป็นผง
  • ปลาช่อนครึ่งกิโล ย่างไฟให้สุกตากแดดให้แห้ง แล้วบดให้เป็นผง
  • ดีปรี 3 เม็ด บดให้เป็นผง
    เอาทั้ง 9 อย่างนี้มาผสมกันกับน้ำผึ้ง ปั้นเป็นลูกกลอนให้กิน กินวันละ 1 เม็ดก่อนนอนทุกวัน ในระหว่างเลี้ยงอยู่นั้นยังมียาอีกหลายอย่าง เช่น หญ้าแพรกบดให้ป่น ตากลมพอหมาดๆนำไปผสมนมข้นหวาน ใส่ตู้เย็นไว้ให้กินทุกวันก่อนนอนจะทำให้ไก่มีกำลังบินที่ดีมาก และก็ในคราวเดียวกันในระหว่างกำลังเลี้ยงอยู่ควรให้กินยาวิตามินไปด้วย คือ แบรนเนอร์โปรตีน เพราะยาตัวนี้จะมีวิตามินที่ร่างกายต้องการไม่ว่าคนหรือสัตว์จะขาดเสียไม่ได้เลย คือ วิตามินเอ วิตามินอี วิตามินซี วิตามินดี วิตามินทั้ง 4 ตัวนี้ถ้าขาดตัวใดตัวหนึ่งจะทำให้ร่างกายไม่สมบูรณ์ แข็งแรง เหมือนธรรมชาติ ระหว่างกำลังเลี้ยงอยู่ควรให้กินประมาณ 5 เม็ด ให้กินวันเว้นวัน หรือให้กินวันเว้นสองวัน และวันออกให้กินอีก 1 เม็ด ข้อสำคัญอย่าให้กินมากเกินไป เพราะจะทำให้ไก่บินมากจนตีไม่ถูก เพราะไก่คึกเกินไปนั้นเอง เพราะฉะนั้นการเลี้ยงไก่ออกชนทุกครั้ง จึงจำเป็นต้องให้กินทุกครั้งเพื่อไม่ให้ไก่ขาดวิตามินตัวใดตัวหนึ่ง และก็จะทำให้ไก่ได้มีกำลังเพิ่มขึ้นกว่าปกติ ร่างกายสมบูรณ์แข็งแรงดี ก่อนกินยาบำรุงทุกขนาดควรให้กินข้าวก่อน แล้วค่อยให้กินยาตอนเย็นก่อนนอน

การลงกระเบื้อง
กระเบื้องประคบไก่ ประคบเพื่อเสริมธาตุในการรักษาอาการบาดเจ็บของไก่ชน สมัยโบราณ คนโบราณไม่ว่าจะทำกิจกรรม หรือวิธีกรรมใดๆ จะขาดธาตุหลักทั้ง 4 คือ ดิน น้ำ ลม ไฟ ไม่ได้ ดูจากคาถาโบราณ ยังมีคาถาปลุกธาตุ 4 คือ นะ มะ พะ ทะ
การเลี้ยงไก่ชนซึ่งมีควบคู่กับคนไทยโบราณมานาน ก็ย่อมต้องอิงธาตุ 4 ด้วยเช่นกัน สิ่งมีชีวิตทุกชนิด ประกอบด้วย ดิน น้ำ ลม ไฟ เมื่อขาดธาตุใดธาตุหนึ่ง หรือเกิดความไม่สมดุลย์ของธาตุใดธาตุหนึ่ง ร่างกายของสิ่งมีชีวิตนั้นก็จะเกิดเจ็บป่วยขึ้น ดังนั้นจึงต้องมีการเสริมธาตุที่ขาดไปให้สมบูรณ์ดังเดิม ก็จะหายจากการเจ็บป่วยได้
การกราดน้ำไก่ชน คือการเสริมธาตุน้ำ ธาตุลมมาจากอากาศรอบๆตัว ธาตุไฟที่ติดไว้และมารวมเป็นความร้อนอยู่บนกระเบื้องซึ่งเป็นธาตุดิน เมื่อพูดว่าเลี้ยงทำตัวกราดน้ำ ติดกระเบื้องก็จะมองเห็นภาพการรวมธาตุ ดิน น้ำ ลม ไฟ มาสู่ตัวไก่โดยใช้ผ้าชุบน้ำมาเช็ดบนแผ่นกระเบื้องที่มีความร้อนแล้วนำมาประคบตัวไก่
ในปัจจุบันนี้มีการเปลี่ยนแปลงจาก เตาถ่านและกระเบื้องดินเผาที่ต้องรอ กว่าจะร้อนมาเป็นเตารีดที่เพียงเสียบปลั๊กปุ๊บก็ร้อนปั๊บ ใช้งานได้ทันที เหมาะแก่การเลี้ยงไก่ชนในสมัยนี้ ซึ่งดัดแปลงจากเตารีดธรรมดาที่ใช้ตามบ้าน โดยแกะด้านที่จับออก หงายเตารีดและขัน น๊อตยึดกับแผ่นไม้ เพื่อความมั่นคงและสะดวกในการใช้งาน
จากการทดลองใช้ สามารถสรุป ข้อดี ไว้เป็นประโยชน์และแนวทางเปรียบเทียบสำหรับผู้ที่จะลองทำใช้ดูไว้ดังนี้

  • สะดวก เพียงเสียบปลั๊กก็ใช้ได้
  • ร้อนเร็ว ภายในไม่ถึง 1 นาที ก็สามารถใช้ประคบไก่ได้ไม่เสียเวลา ใช้ผ้ากราดน้ำชุบน้ำลูบบริเวณผิวด้านหน้าจะทำให้ร้อนเร็วขึ้น
  • เหมาะสำหรับ ผู้เลี้ยงไก่จำนวนน้อย ประมาณ 2-3 ตัว เพราะไม่ต้องเสียเวลาตั้งเตาประคบ
  • พกพาง่าย สามารถนำไปใช้ในบ่อนได้ไม่ยุ่งยาก หากใช้เตารีดคู่กับไดร์เป่าผมก็ไม่ต้องนำชุดรมไปให้เกะกะ
  • ไก่ที่ประคบด้วยเตารีด แผลที่หายจะมีหนังเกิดใหม่หนากว่าที่คบด้วยกระเบื้อง ทำให้ไก่แข็งเร็ว
  • ไก่ที่ประคบด้วยเตารีด หน้าไก่จะไม่มันเหมือนประคบด้วยกระเบื้อง เพราะว่าผิวของกระเบื้องทำมาจากดินเผามีความชื้น ประคบไก่ทำให้หน้าแดงมันสวยงาม เป็นเหตุบอกแห่งความสมบูรณ์ แต่ประคบด้วยเตารีดเป็นโลหะไม่มีความชื้น หน้าไก่จะเป็นสีชมพูด้านๆ ดูโศกๆไม่สมบูรณ์แต่ความจริงแข็งอย่างหิน
  • ไก่ที่ประคบด้วยเตารีด จะดูอ่อนนอก แข็งใน คือ มองดูโศกไม่สมบูรณ์ ขนหยาบไม่มีน้ำขน หน้าไม่แดงหรือที่เรียกว่าผิวไม่ดี เมื่อจับตัวดู กล้ามเนื้อผิวไก่จะไม่ตึงแน่นเหมือนประคบกระเบื้อง สาเหตุก็เกิดจากเตารีดเป็นโลหะไม่มีความชื้นผิวหน้า ทำให้เมื่อใช้ประคบไก่ แล้วไก่จะดูกร้าน แต่เมื่อปล้ำแล้วไก่จะไม่มียุบ โดนเจ็บจะไม่แสดงอาการ
  • ในระยะเวลาที่เท่ากัน การประคบเตารีดไก่จะแข็งเร็วกว่า เทคนิคที่จะดีของการประคบเตารีด คือ ต้องไม่ลงขมิ้นไก่ สำหรับข้อเสียนั้นก็จะมีแต่ขนด้านๆ ถ้าไม่ประคบโดนขนปีก ก็ไม่เกิดผลเสียต่อไก่แต่อย่างใด

การลงขมิ้น
ในการเลี้ยงไก่ชน ขมิ้นถือว่ามีคุณค่าและจำเป็นอย่างยิ่ง มือน้ำจะใช้ขมิ้นผสมกับปูนกินหมากให้ข้น แล้วนำมาทาตามเนื้อตัวไก่เพื่อรักษาบาดแผลในการต่อสู้ และเพื่อทำให้ผิวพรรณของไก่ดี และยังช่วยไล่ไรและแมลงต่างๆที่จะมาสร้างความลำคาญให้แก่ไก่ การลงขมิ้นที่ถูกต้องก็มีเทคนิคและวิธีการที่ค่อนข้างจะซับซ้อนอยู่ไม่น้อย หากผู้เลี้ยงทำไม่ถูกต้อง แทนที่การลงขมิ้นจะได้ประโยชน์อาจกลับกลายเป็นโทษต่อไก่ไปโดยไม่รู้ตัว
การกราดแดด
ถือเป็นอีกกิจกรรมหนึ่งที่จะต้องทำควบคู่กับการกราดน้ำ การกราดแดดจะช่วยควบคุมน้ำหนักได้ดี ทำให้ไก่คุ้นเคยกับความร้อนความเหนื่อย ทำให้กระดูกมีความแข็งแรง ดังนั้นการกราดแดดจึงถือเป็นหัวใจสำคัญสำหรับไก่ทุกตัวที่จะต้องกราดแดดให้ถึงและปล้ำให้แข็งพอที่จะรับมือคู่ต่อสู้ได้
การกราดแดดทำได้โดยนำไก่ที่ผ่านการกราดน้ำแล้วครอบสุ่มไว้กลางแจ้งที่มีแดดส่องถึง ส่วนระยะเวลาขึ้นอยู่กับสภาพของแสงแดดเป็นสำคัญ ต้องคอยสังเกตดูอาการของไก่ว่ามีอาการเป็นอย่างไร หากพบว่าไก่เริ่มหอบ อ้าปาก หรือปีกยกก็ให้นำเข้าร่มได้ ในไก่แต่ละตัวระยะเวลาจะมีความแตกต่างกัน เช่น ไก่หนุ่มไม่ควรให้หอบมากเกินไป เพราะจะมีผลทำให้เสียไก่ได้ง่าย เพราะร่างกายยังไม่เคยชิน ให้ทำการกราดแดดแค่ขนแห้งก็พอ ส่วนในไก่ที่เจนสนามแล้วจะต้องกราดนานๆ เนื่องจากไก่พวกนี้มีความแข็งแรงทนทานกว่า การกราดแดดจำเป็นจะต้องทำอย่างต่อเนื่องจนกระทั่งก่อนถึงวันลงสังเวียนประมาณ 3 วันจึงหยุดเพื่อให้ไก่ได้พักผ่อนอย่างเต็มที่
สำหรับไก่ชนที่ผ่านการชนมาแล้ว จะต้องนำมารักษาแผล ใส่ยา เย็บแผลแตก ให้ยาแก้อักเสบ แล้วปล่อยให้ไก่ได้พักสักระยะหนึ่งก่อนจะนำมาถ่ายยาเพื่อขับเอาความช้ำและรอยเลือดตกค้างต่างๆออกมา หลังจากนั้นปล่อยให้เป็นอิสระ เพื่อให้ไก่ได้คลุกฝุ่นให้ผิวหนังตึง เมื่อเห็นว่าแข็งแรง ปกติดีหมดแล้ว จึงนำกลับมาทำการบำรุงถ่ายยา กราดน้ำ กราดแดด แล้วปล้ำกันใหม่ เพื่อเตรียมตัวสำหรับลงสนามครั้งต่อไป ก่อนที่จะออกสังเวียนครั้งต่อไปจะต้องมีการถอนแข้งหรือฉะกันเสียใหม่ จำนวนมากน้อยแล้วแต่ความเหมาะสม โดยดูจากความบอบช้ำของตัวไก่ที่เกิดขึ้นจากการตีครั้งก่อน หากผ่านการตีมาหลายครั้งและบอบช้ำมากอาจจะต้องพักนาน และเริ่มต้นปล้ำใหม่เพื่อให้ร่างกายเข้าที่และสมบูรณ์จริงๆ แต่หากนำออกตีในขณะที่ร่างกายไม่สมบูรณ์ดี แบบที่เรียกว่า เน่าใน หรือในขาด ไก่จะตีได้ไม่ดี โอกาสที่จะแพ้มีมากหรืออาจจะเสียไก่ได้ง่าย ในกรณีที่ชนะในอัน สองอันไม่ช้ำมาก สามารถที่จะฉะเพียงอันสองอันก็นำออกสังเวียนใหม่ได้เลย ส่วนในตัวที่ดื้อสังเวียนมานาน จากการถ่ายขนหรือพักรักษาตัวจะต้องปล้ำให้หนักเหมือนไก่หนุ่มเลยทีเดียว
หลังจากนั้นดูแลรักษาสุขภาพให้ดี จัดให้ไก่ได้พักผ่อนอย่างเต็มที่และอยู่อย่างสบายทั้งกายและใจ ซึ่งศัตรูทางใจของไก่ชนที่สำคัญก็คือ ไก่ตัวเมียและไก่คู่ต่อสู้ ดังนั้นไก่ที่จะออกสนามจะต้องนำออกให้ห่างสิ่งเหล่านี้มากที่สุด
สำหรับอายุการใช้งานของไก่ในการออกชนไม่ควรให้เกิน 2ปีครึ่งหรือ 3 ปี เพราะไก่ที่อายุมากกว่านี้ร่างกายเรี่ยวแรงจะถดถอย ถึงแม้ว่าจะมีลีลาฝีมือมากก็ตาม แต่กำลังจะสู้ไก่หนุ่มๆไม่ไหว ไก่ระดับนี้ควรนำมาทำพ่อพันธุ์ดีกว่า เพื่อให้การขยายหรือคงลักษณะไก่ที่ดีๆให้คงอยู่ต่อไป
การวิ่งสุ่ม
การวิ่งสุ่มนั้นเป็นวิธีการที่ทำให้ไก่มีกำลังขามาก การวิ่งสุ่มที่จะทำให้ไก่มีกำลังมากๆจริง ให้คนล่อไก่นำไก่ล่อไปนั่งในสุ่มใหญ่ๆ กว้างประมาณ 1.80 ซ.ม สูงประมาณ 1.50 ซ.ม นำไปล่อไก่ที่เราจะเลี้ยง ให้มันโมโหเสียก่อนแล้วไก่จะวิ่งดี พอเข้าไปนั่งในสุ่มพร้อมกับไก่ล่อแล้ว ให้ยกไก่ล่อวนข้างในสุ่มเพื่อเป็นการล่อไก่ตัวนอกให้วิ่งไปข้างซ้าย-ขวา ข้างละ 20 รอบ วันแรกอาจจะวิ่งได้ประมาณ 50-60 รอบ แต่ว่าวันต่อมาให้วิ่งวันละ 100 รอบ วิ่งทุกวัน วิ่งจนกว่านับรวมกันแล้วให้ได้ 1,500 รอบ แล้วจากนั้นวิ่งประจำวัน วันละ 100 รอบ วิ่งเสร็จให้เอาขนไก่แหย่คอ แล้วก็เริ่มล่อต่อ การล่อต่อจากการวิ่งสุ่ม คือ ล่อให้ไก่ย้ายจับไก่ล่อคุมปากเสียแล้วล่อวนไปทางซ้าย 10 รอบ ทางขวา 10 รอบ การล่อวนซ้าย-ขวานี้ใหม่ๆไก่จะล้ม วนได้สัก 2-3 รอบจะล้ม ให้ล่อจนกว่าไก่จะไม่ล้มเป็นใช้ได้ ถ้าวนซ้าย 10 รอบ ขวา 10 รอบยังล้มอยู่ยังใช้ไม่ได้ ล่อให้มันกระโดดบ้างก็ได้ให้กระโดดสัก 30 ครั้งก็พอ พื้นรองให้ไก่กระโดดต้องใช้พรมรองพื้น หรือบริเวณที่ดินอ่อนๆ มิเช่นนั้น อุ้งเท้าไก่จะเจ็บหรือบวมได้ อาจจะกลายเป็นหน่อก็ได้ การล่อไก่ก็เหมือนกันควรล่อบนพรม หรือพื้นดินที่นุ่มๆ เวลาไก่วิ่ง หรือไก่ย้ายตีนและนิ้ว จะได้ไม่พอง
ข้อสำคัญ ในสังเวียนไก่ตามบ่อนต่างๆ นิยมใช้พรมปูพื้น การเลี้ยง การล่อไก่จึงต้องปูพื้นพรมเหมือนในบ่อน จะทำให้ไก่เคยชินกับพื้น ถ้าเลี้ยงหรือล่อตามพื้นดิน พอไปชนในสังเวียนที่มีพื้นพรมไก่ก็จะตีไม่เหมือนเดิม จะลื่น จะล้มไปเลย
ล่อไก่
วิธีการอีกอย่างหนึ่งซึ่งเป็นวิธีใช้เพื่อเสริมสร้างพละกำลังของไก่ที่ใช้กันมานานและได้ผลดีมาก คือ การล่อไก่ ด้วยสาเหตุที่ว่าเพื่อให้ไก่ได้ออกกำลังและเสริมสร้างความแข็งแกร่งของไก่ให้พร้อมเพื่อจะนำไปชน การล่อไก่จะล่อเหมือนกันทุกตัวไม่ได้เพราะพื้นฐานของร่างกายไก่ไม่เท่ากัน และในการล่อก็ต้องมีการวางแผนกำหนดการล่อด้วย หากไม่มีความรู้ ความเข้าใจในการล่อไก่ เมื่อถึงวันที่นำไก่ไปชนไก่ที่เลี้ยงอาจจะไม่แข็งแรงพออย่างที่หวังไว้ ซึ่งหากว่าล่อหนักเกินไปกลัวว่าไก่จะแรงไม่ดี เมื่อถึงวันชนไก่ที่เลี้ยงอาจบินล้ม ตีลังกา แข้งขาอ่อนไปเลย เพราะการที่ล่อหนักเกินไปอาจทำให้กล้ามเนื้อของไก่ฉีกขาดหรืออักเสบได้ แต่ถ้าล่อไก่น้อยเกินไปกลัวไก่เหนื่อย หากถึงวันชนจะไม่มีแรง อาจจะแรงดีในช่วงแรกเพียง 1-2 ยกเท่านั้น พอเบียดกันเลย 3 อันก็หมดแรง หรือบางตัวอาจบินไม่โปร่งเพราะอ้วนเนื่องจากออกกำลังน้อยเกินไปทำให้ไขมันเยอะ วึ่งรายละเอียด ความพอดีและวิธีการล่อไก่นั้นสำคัญมาก
ลงนวมไก่
การเลี้ยงไก่ชนเป็นศาสตร์ที่ต้องใช้ความละเอียดอ่อน ความชำนาญและประสบการณ์อย่างมาก การให้ไก่ได้ออกกำลังอย่างเช่น วิ่งสุ่ม ล่อ เป็นขั้นตอนหนึ่งที่จะทำให้ไก่แข็งแรง พละกำลังดีและอีกวิธีหนึ่งก็คือ การลงนวมไก่ เป็นวิธีการซึ่งใช้ในการสร้างเสริมกำลังวังชาและความแข็งแกร่งของไก่โดยตรง ซึ่งสามารถทำได้ตั้งแต่เริ่มนำไก่มาเลี้ยงใหม่จนถึงเลี้ยงออกชน การลงนวมไก่แยกย่อยออกเป็นรายละเอียดและเคล็ดลับต่างๆได้ดังนี้
การหาไก่คู่นวม
ไก่ที่นำมาเป็นคู่ลงนวมไก่นั้นควรเป็นไก่ที่อายุใกล้เคียงกัน หากว่าไก่ที่เลี้ยงเป็นไก่หนุ่มแล้วนำไก่ที่มีอายุดีมาทำการลงนวม ไก่ที่เลี้ยงอาจโดนตีระบมภายในได้ แต่ถ้าไก่เลี้ยงเป็นไก่ที่มีอายุดีแล้ว สามารถนำไก่ที่มีอายุดีเช่นกันมาลงนวมได้ ไก่ที่นำมาใช้เป็นคู่นวมนั้นต้องมีน้ำหนัก รูปร่างใกล้เคียงกัน อย่าให้ได้เปรียบเสียเปรียบกันมาก และที่สำคัญไม่ควรนำไก่เชิงมาเป็นคู่นวม เพราะหากไก่เลี้ยงเชิงไม่ดีจะทำให้เสียเชิงได้ เมื่อได้คู่นวมที่ต้องการแล้วควรตัดเดือยออกให้ราบติดแข้ง เพื่อป้องกันไก่เลี้ยงโดนสาดอาจทำให้เจ็บระบมภายในได้
อุปกรณ์ที่ใช้ในการลงนวม
1. นวมพันแข้ง
2. พลาสเตอร์
3. นวมปาก
วิธีเตรียมไก่ก่อนลงนวม
นำไก่คู่นวมที่เตรียมไว้มาพันแข้งให้เรียบร้อย ควรพันพลาสเตอร์ที่เล็บของไก่คู่นวมด้วยทุกนิ้ว เช็ดน้ำธรรมดาให้ทั่วตัวป้อนน้ำให้กิน นำนวมปากสวมคลุมทั้งปากบนและปากล่าง แล้วนำไก่ที่เลี้ยงมาพันนวมให้เรียบร้อยด้วย หากว่าไก่ที่เลี้ยงตอเดือยเล็กควรคาดเดือยกันเดือยโค่นก่อนทำการพันแข้ง ควรพันพลาสเตอร์รองก้อยด้วยเพื่อป้องกันก้อยถลอกหรือหัก เช็ดน้ำไก่ให้ทั่วด้วยน้ำสะอาด ยอนคอแล้วป้อนน้ำให้กิน นำนวมปากมาสวมทั้งปากบนและปากล่าง แล้วจึงทำการลงนวมได้
เทคนิคและวิธีการลงนวมก่อนปล้ำ
ในการลงนวมไก่นั้นสามารถลงนวมได้ตั้งแต่เริ่มนำไก่มาเลี้ยง ไปจนถึงการลงนวมไก่ออกชน ซึ่งถ้าทำอย่างถูกต้องและถูกวิธีจะทำให้ไก่แข็งแรง พละกำลังดีและแข็งแกร่ง นอกเสียจากไก่บางประเ3ทอย่างไก่พม่าที่ไม่นิยมลงนวม ในการลงนวมนั้นจะต้องมีการวางกำหนดการในการลงนวมเสียก่อน เพื่อเป็นการกำหนดวันที่จะลงนวมว่าจะลงนวมทั้งหมดกี่ครั้งและพักไก่กี่วัน ในช่วงเวลาที่เลี้ยงไก่ก่อนนำไปปล้ำ ตัวอย่าง เช่น ไก่ที่เราเลี้ยงปล้ำในวันอาทิตย์มา 2 อัน แล้วอีกสองสัปดาห์ถัดไปในวันอาทิตย์ จะทำการปล้ำอีกครั้ง แสดงว่าเรามีเวลาในการเลี้ยงทั้งหมด 13 วัน ผู้เลี้ยงต้องทำการวางกำหนดการภายใน 13 วันว่าจะพักไก่กี่วัน ลงนวมกี่วัน แล้วพักไก่ก่อนนำไปปล้ำกี่วัน ในการพักไก่หลังจากการปล้ำนั้น ควรพักไก่อย่างน้อย 5-6 วัน เพื่อให้บาดแผลตกสะเก็ดและร่วงเสียก่อน ให้สังเกตว่าบาดแผลไก่เริ่มบางใกล้หายจึงเริ่มลงนวม และในการพักไก่หลังจากที่ลงนวมมาไม่ว่าจะลงนวมไปกี่ครั้ง ก็ควรจะมีการพักไก่เสียก่อนจะนำไปปล้ำ ควรจะพักอย่างน้อย 2 วัน เพื่อเป็นการคลายความเมื่อยล้า คลายเนื้อคลายตัว ตัวอย่างการวางกำหนดการลงนวมไก่ก่อนปล้ำในกำหนดเวลาเลี้ยง 13 วันก่อนนำไปปล้ำ

  • วันที่ 1-2 ปล่อยให้ไก่พัก เช็ดน้ำและประคบกระเบื้องหรือนวดยา ไม่ต้องให้ไก่วิ่งสุ่ม ปล่อยให้ไก่อยู่ในตาข่ายกว้างๆก็พอ
  • วันที่ 3-6 ปล่อยให้ไก่พัก เช็ดน้ำและประคบกระเบื้องหรือนวดยา ให้ไก่วิ่งสุ่มในช่วงเช้าและบ่าย
  • วันที่ 7 ลงนวมช่วงเช้าตรู่ อันเดียว 25 นาที เช็ดน้ำหรือประคบกระเบื้องนวดยาตามปกติ วิ่งสุ่มช่วงบ่ายก่อนเช็ดน้ำอีกครั้ง
  • วันที่ 8 ให้วิ่งสุ่มในช่วงเช้าก่อนเช็ดน้ำ และประคบกระเบื้องนวดยาตามปกติ วิ่งสุ่มในช่วงบ่ายก่อนเช็ดน้ำอีกครั้ง
  • วันที่ 9 ทำเช่นเดียวกับวันที่ 7
  • วันที่ 10 ทำเช่นเดียวกับวันที่ 8
  • วันที่ 11 ลงนวมช่วงเช้าตรู่ อันเดียว 30 นาที เช็ดน้ำและประคบกระเบื้องนวดยาตามปกติ วิ่งสุ่มช่วงบ่ายก่อนเช็ดน้ำอีกครั้ง
  • วันที่ 12-13 พักไก่ ไม่ต้องวิ่งสุ่ม เช็ดน้ำธรรมดา ไม่ต้องประคบกระเบื้อง ปล่อยให้ไก่เดินที่กว้างๆ เพื่อผ่อนคลายกล้ามเนื้อ

ทุกครั้งก่อนที่จะทำการลงนวมต้องเตรียมตัวไก่ตามที่กล่าวไว้ข้างต้นเสียก่อน และควรทำการลงนวมในช่วงเช้าตรู่ของวันที่จะทำการลงนวม
การโดดหลุม
การโดดหลุม การบินหรือการโดดบ่อก็คือการให้ไก่ได้มีกำลังขามากๆ กำลังปีกมากๆ แต่ความแข็งจะไม่ค่อยมีมากเท่าไหร่ การบินหลุมนี้ส่วนมากจะผ่านการวิ่งมาก่อน ผ่านการเลี้ยง เอากำลังมาก่อนทั้งนั้น การบินหลุมเป็นส่วนประกอบในการเลี้ยงไก่เหมือนกัน ไม่ใช่วิธีการเลี้ยงแบบหลักๆที่สำคัญ ถ้าบินหลุมอย่างเดียวไม่ให้ไก่ออกกำลังขาวิ่งบ้างความแข็งก็จะไม่มากพอ ต้องวิ่งสุ่มเสียก่อนแล้วค่อยบินหลุม ต่อไปก็ทำการล่อความแข็งก็จะแข็งมาก
หลุมที่ใช้บินในอดีตจะใช้เป็นหลุมดินที่ขุดลึก 1-1.5 เมตร กว้าง 1 เมตร ส่วนพื้นจะใช้วัสดุที่นุ่มๆรอง เช่นฟางข้าว สำหรับจำนวนครั้งที่ให้ไก่กระโดด ถ้าเป็นไก่หนุ่มโดดใหม่ๆก็ควรให้โดดสัก 10 ครั้งก่อนแต่ต้องสังเกตด้วยว่าไก่หอบหรือไม่ ถ้าไก่หอบมากก็ควรให้หยุดก่อนแล้วค่อยเพิ่มจำนวนให้มากขึ้นในต่อไป ปัจจุบันหลุมโดดไก่มีการใช้ถังส้วมแทนการขุดหลุม และใช้กระสอบหรือฟองน้ำรอง เพื่อลดแรงกระแทก

การใช้อุปกรณ์ช่วย ดูตามคลิป สนใจสินค้าติดต่อได้ครับ 0619745133

Sharing /แชร์